ทั้งนี้ หลังลงนามสัญญา ตามเงื่อนไขกำหนดให้ CHO ต้องส่งมอบรถรวม 4 ล็อต โดยล็อตแรกจำนวน 50 คันภายใน 60 วันหลังลงนามสัญญา ล็อตที่ 2 จำนวน 100 คัน ใน 70 วัน ล็อตที่ 3 จำนวน 150 คัน ภายใน 80 วัน และล็อตที่ 4 จำนวน 189 คัน ภายใน 90 วัน รวมทั้งหมด 489 คัน โดยรถใหม่ที่จะนำมาวิ่งใน 20 เส้นทาง พร้อมกันนี้ ขสมก.ได้ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเก้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)ในการศึกษาในการดำเนินการติดตั้งระบบ GPS ในรถดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาภายใน 3 เดือน
ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ที่ไม่ผ่านการประมูลนั้น นางปราณี กล่าวยืนยันว่า กระบวนจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน โปร่งใส เป็นโครงการนำร่องของกระทรวงคมนาคมที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรม และไม่กังวลที่บริษัท เบสทรินกรู๊ป จำกัด ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการประกวดราคาได้ แต่ข่าวที่ออกไปทำให้ภาพล้กษณ์ขสมก.ไม่ดี ดังนั้น จะใช้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่มีข้อสงสัยและยืนยันว่ารถเมล์ทั้ง 489 คันจะเข้ามาให้บริการแน่นอน พร้อมกันนั้นยังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรกับทางเบสทรินฯ หากยังไม่หยุดให้ข่าวทางลบที่ไม่เป็นความจริงอีก อาจจะต้องเรียกมาทำความเข้าใจกัน หรือพึ่งกระบวนการทางกฎหมาย
“เบสท์รินฯ ระบุว่ายื่นประมูล 2 ครั้ง ไม่ผ่านคุณสมบัตินั้น ขสมก.ได้แจ้งให้บริษัททราบและได้ยอมรับว่าเอกสารไม่เรียบร้อยตรงกันแล้ว ส่วนการที่กลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคายื่นประมูลครั้งเดียวมในการประมูลครั้งที่ 3 แล้วชนะ เพราะมีคุณสมบัติตรงตาม TOR และมีสิทธิเสนอราคา เมื่อเคาะราคาทางอี-อ๊อคชั่นก็เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จึงได้รับสิทธิเจรจาต่อรองค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6-10 ซึ่งเสนอที่ 1,850 บาทต่อคันต่อวันและต่อรองลงมาที่ราคากลาง 1,636 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนทาง เบสท์ริน กรุ๊ป เสนอค่าซ่อมปีที่ 6-10 สูงถึง 4,000 บาทต่อคันต่อวัน จึงไม่สมเหตุสมผลที่ เบสท์ริน ฯจะร้องเรียน"นางปราณี กล่าว
นางปราณี กล่าวว่า การดำเนินการทุกขั้นตอนรมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมทุกครั้ง ทั้งการจัดซื้อและการเจรจา ซึ่งทาง ขสมก.ไม่ได้รับข้อสังเกตจากผู้สังเกตกาณ์ว่ากระบวนการใดส่อไปทางทุจริต และด้วยหน้าที่และบทบาทของผู้สังเกตการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.กำหนดว่ากรณีผู้สังเกตการณ์พบเห็นว่าดำเนินการมีกระทำส่อไปทางส่อไม่สุจริต หรือมีแนวโน้มส่อไปทางไม่สุจริต ผู้สังเกตการณ์ต้องแจ้งให้เจ้าของหน่วยงานทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด
และหากหัวหน้าหน่วยงานรับแจ้งแล้วไม่ดำเนินการในระยะเวลา ผู้สังเกตการณ์จึงจะนำเรื่องเหล่านั้นออกสู่สาธารณะได้ หรือร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ตามที่ ครม.กำหนด ดังนั้น ขสมก.ก็มองได้ว่าผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.หรือไม่
กรณีข้อร้องเรียนที่ระบุว่ามีการเลี่ยงภาษีนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันแทนการประกอบในประเทศตามที่ยื่นไว้ในการประมูลนั้น นายปราณี กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่าง CHO กับกรมศุลกากร หากทำไม่ถูกต้องคงไม่สามารถนำรถเข้ามาได้ และส่งมอบรถให้ไม่ได้ บริษัทจะต้องเสียค่าปรับ 10,000 บาทต่อคันต่อวัน และถูกริบเงินค้ำประกัน เชื่อว่าทาง CHO คงไม่กล้าเสี่ยงกับการเสียชื่อ อีกทั้งในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ขสมก.จะเดินทางไปดูโรงงานประกอบจังหวัดขอนแก่นที่ บริษัทเสนอไว้ด้วย
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการประกวดราคา จัดซื้อรถเมล์ NGV ด้วยนั้น นางปราณีกล่าวว่าไม่ทราบ แต่ที่ผ่านมา คตช.ได้เข้ามาขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคา ซึ่งขสมก.ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว รวมถึงทางสตง.ได้เข้ามาขอดูเอกสารเช่นกัน
ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHO เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจที่จะเซ็นสัญญากับ ขสมก.เพื่อจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 3) อย่างเป็นทางการ ได้ภายในเดือน มิ.ย. นี้อย่างแน่นอน
สำหรับเหตุการณ์ที่มีผู้ประมูลรายอื่นมาร้องเรียนว่าการประมูลครั้งนี้ไม่มีความโปร่งไสนั้น นายสุรเดช กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ CHO เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ข้อกล่าวหาว่าจะทำตาม TOR ได้หรือไม่นั้น บริษัทค่อนข้างมั่นใจเพราะ TOR ให้สามารถนำเข้ารถมาทั้งคัน หรือประกอบในประเทศทั้งหมด หรืออาจจะเป็นการนำเข้าบางส่วนและใช้ส่วนในประเทศบางส่วนก็ได้ ซึ่งทาง CHO เลือกที่จะนำเข้าชิ้นส่วนมาประมาณ 50% และอีก 30% ใช้ชิ้นส่วนในประเทศและมาประกอบ ส่วนที่เหลืออีก 20% คือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะทำได้ทันในระยะเวลา 90 วันแน่นอน