"สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ (กสทช.) ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เลือกปฏิบัติ กล่าวคือ มีแต่ดีแทคเพียงรายเดียวที่ไม่อาจใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ย่านความถี่ 2100 MHz รายอื่น ทำให้ผู้ใช้บริการไม่อาจเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวด้วยเช่นกัน"นายนฤพนธ์ กล่าว
นายนฤพนธ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเดินหน้าเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม 3G และ 4G บนย่านความถี่ 2100 MHz ยังจะช่วยให้รัฐและผู้ให้สัมปทานหรือแคทได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งรายตามสัญญาสัมปทานเพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุมครองชั่วคราวนี้จึงทำให้รัฐและ CAT ต้องสูญเสียรายได้ นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะถ้าไม่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น จะกลายเป็นภาระค่าบริการแก่ประชาชน
นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวย่อมกระทบกับการประมูล 4G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะทำให้เกิดความไม่แน่นอนและกระทบกับการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมประมูล เนื่องจากมีต้นทุนในการบริการเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่สามารถใช้โครงข่ายร่วมกับดีแทค
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่แก่ผู้ได้รับสัมปทานว่าไม่อาจใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกับผู้อื่นและทำให้แคทสูญเสียรายได้ ดังนั้นจึงไม่มีผู้ได้รับประโยชน์จากคำสั่งห้ามดังกล่าวเลยแม้แต่แคทก็ตาม ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานไปก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาศาลปกครองได้ปฏิเสธคำร้องขอของ CAT ให้ศาลมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันในคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ดังนั้น ดีแทคจึงหวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งกลับหรือยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ