ขณะที่บริษัทวางเป้าขยายธุรกิจไฟฟ้า และโอกาสซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่ม คาดว่าจะสรุปได้ในปีหน้า
นางสมฤดี กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายปริมาณขายถ่านหินจากเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียราว 44 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยจะมาจากเหมืองอินโดนีเซีย 30 ล้านตัน และออสเตรเลีย 14 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทในปีนี้จะอยู่ที่ 58-60 เหรียญสหรัฐ/ตันจากราว 65 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว
"รายได้ขายถ่านหินคงจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่เรามีรายได้เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าในจีน ซึ่งโดยรวมก็น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ส่วนโรงไฟฟ้าอื่นๆก็จะรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไรเข้ามา...กำไรจากการดำเนินงานยังดีอยู่ กระแสเงินสดก็ยังเป็นบวก"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี มองว่าราคาขายถ่านหินในตลาดขณะนี้ถือว่าค่อนข้างคงที่แล้ว จากที่ทำระดับต่ำสุดที่ราว 57 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว โดยราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ราว 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่ได้ปรับลดลงมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะบริหารให้มาร์จิ้นอยู่ในระดับที่สร้างกระแสเงินสดได้ดี ซึ่งการที่ราคาถ่านหินเริ่มนิ่งเป็นผลจากผู้ผลิตลดระดับการผลิตที่มีต้นทุนสูงลงมาบ้าง ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงมีอัตราการเติบโตราว 3-4% ต่อปี โดยเฉพาะในจีน ,ญี่ปุ่น ,อินเดีย ,เกาหลีใต้ เป็นต้น เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ถ่านหินค่อยๆ ปรับเข้าสู่สมดุลในที่สุด
สำหรับบริษัทเองได้พยายามลดต้นทุนการผลิตของเหมืองถ่านหินที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาในปีนี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเหมืองในอินโดนีเซียลดลงราว 10% และเหมืองออสเตรเลียลดลงราว 3% จากปีก่อน รวมถึงในปีนี้ยังจะมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาในลาว ที่เปิดเดินเครื่องหน่วยที่ 1 ในเดือน มิ.ย.และจะเปิดการผลิตหน่วยที่ 2 ในเดือน พ.ย.เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยหนุนการดำเนินงานของบริษัท
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าที่จะนำบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ในปลายปี 58 ถึงต้นปี 59 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรให้ธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบริหารของบ้านปู เพาเวอร์ และมองหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ซึ่ง BANPU จะยังคงถือหุ้นเกินกว่า 50% ภายหลังเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)
ปัจจุบัน BANPU มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนแล้วทั้งหมดเกือบ 1,400 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี,โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้า 3 แห่งในจีน และจะเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 เมกะวัตต์ในราวเดือนก.พ.59 หลังจากโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 2 เริ่มผลิตในเดือน พ.ย.นี้ และหน่วยที่ 3 จะเริ่มผลิตในราวเดือน ก.พ.59
นอกจากนี้เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวงในจีน เริ่มผลิตในปี 60 จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนของบริษัทเพิ่มเป็น 2,250 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับเป้าหมายการจะเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจำนวน 200 เมกะวัตต์ภายในปี 63 ผนวกกับแผนขยายกำลังการผลิตในโรงไฟฟ้า 3 แห่งในจีนอีกเล็กน้อย ก็จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนของ BANPU เพิ่มเป็น 2,750 เมกะวัตต์ในปี 63
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายจะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ส่วนใหญ่จะเน้นในกลุ่มของโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาการลงทุนในแถบเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น จีน ซึ่งมีนโยบายการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ส่วนการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักทั่วไปนั้น ล่าสุด บริษัทยื่นข้อเสนอลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย คาดว่าจะมีข้อสรุปในปีนี้ โดยจะเป็นการลงทุนผ่านบริษัทท้องถิ่น คือ PT Indo Tambanraya Megah(ITM)ซึ่ง BANPU ถือหุ้น 65% ร่วมกับบ้านปู เพาเวอร์ แต่ในอนาคตอาจจะมีพันธมิตรเข้าร่วมด้วย โดย BANPU จะถือหุ้นในระดับที่ยังมีอำนาจการบริหารอยู่ ขณะที่ในอินโดนีเซีย มีโอกาสเติบโตในด้านการผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก หลังรัฐบาลอินโดนีเซียวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าในช่วง 5-10 ปีเพิ่มขึ้นราว 3 หมื่นเมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย หลังจากแนวโน้มราคาถ่านหินที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสในการซื้อกิจการเหมืองถ่านหิน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาถ่านหินเริ่มนิ่ง ทำให้มีศักยภาพในการสรุปดีลได้เร็วขึ้น คาดว่าอาจจะสรุปได้ในปีหน้า สำหรับเหมืองถ่านหินใหม่นั้นจะต้องมีปริมาณสำรองมากพอสมควรด้วย