ทั้งนี้ การควบบริษัทระหว่างบริษัทและบมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สถานะอันดับเครดิตเพิ่มเติมต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทควรดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับคุณภาพเครดิตเอาไว้ ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดเนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการลงทุนตามแผน อย่างไรก็ดี การลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ในระดับสูงจะส่งผลลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัท
บริษัททางด่วนกรุงเทพ เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทั้งนี้ ทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และก่อสร้างและบริหารโครงการโดยกทพ. จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด
บริษัทและ กทพ. มีการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างกันในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในเขตเมือง (ส่วน A และ B) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนหมดอายุสัมปทาน สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. คือ 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. สำหรับในเขตนอกเมือง ในขณะที่ส่วน C ส่วน D และ ส่วน C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ.
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ส่วน SOE) ด้วย โดยสัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีและมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน ทั้งนี้ โครงการมีมูลค่าการลงทุน 25,491 ล้านบาท บริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแผนของบริษัท โดยบริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทางส่วน SOE 100%
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนเครือข่ายทางด่วนของบริษัท ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี ส่วนในปี 2557 ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.104 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2557 เทียบกับ 1.100 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2556 อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันเติบโต 5.6% ในปี 2557 เป็น 23.3 ล้านบาทต่อวัน สำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทรายงานปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.130 ล้านเที่ยวต่อวันหลังจากปัญหาทางการเมืองสงบลงและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันก็เติบโต 6.1% เป็น 23.9 ล้านบาท
ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง แม้บริษัทจะมีอัตรากำไรที่สูง แต่ก็มีภาระหนี้จากการลงทุนในระดับสูงเช่นกันซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจทางด่วน ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 8,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน สำหรับไตรมาสแรกของปี 2558 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัทเพิ่มขึ้น 7.4% เป็น 2,196 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณการจราจรที่เติบโตบนระบบทางด่วนของบริษัททุกเส้นทาง อัตรากำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ในระดับสูงระหว่าง 78%-80% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงซึ่งสะท้อนภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการ SOE ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีหนี้สินรวม 30,513 ล้านบาท โดยมีเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 57.9% ความสามาถในการทำกำไรของบริษัทหนุนสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่ในระดับดี บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 20% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสแรกของปี 2558 ในขณะที่มีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 11.3 เท่า
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ทางด่วนยังมีแนวโน้มในทางบวกด้วยอัตราการเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑลและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าผ่านทางของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 3%-5% ต่อไปในระหว่างปี 2558-2560 การเปิดใช้ทางด่วนส่วน SOE ในช่วงปลายปี 2559 จะช่วยให้รายได้ของบริษัทเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของทางด่วนเส้นใหม่ยังมีไม่มากนักในระยะแรกเพราะต้องใช้เวลาในการเพิ่มการจราจรบนเส้นทาง จากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ บริษัทได้รับ การคาดหมายให้มีเงินทุนจากการดำเนินงานที่อย่างน้อย 6,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2558-2560 ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเพียงพอสำหรับภาระหนี้และการลงทุนตามแผนของบริษัท
ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการควบบริษัทกับ BMCL ซึ่งทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทใหม่จะมีความแข็งแรงโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสินทรัพย์ที่มีคุณภาพทั้งทางด่วนและระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนสัญญาการให้บริการในระยะยาว และโอกาสการเติบโตจากธุรกิจทั้งจากความต้องการใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในข่ายผู้มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของภาครัฐอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังการควบบริษัท สถานะการเงินโดยรวมของบริษัทจะอ่อนตัวลงจากเดิมจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวกว่าของธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดิน
อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ธุรกิจมีความสามารถที่จะชำระหนี้ของตนเองได้ ฐานะการเงินของบริษัทใหม่จะสามารถสนับสนุนโครงการลงทุนทั้งทางด่วนส่วน SOE และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทั้งนี้ การรวมธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินจะช่วยให้บริษัทรักษาระดับผลประกอบการให้สม่ำเสมอได้ในขณะที่อายุสัมปทานของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C กำลังจะหมดลง อันดับเครดิตของบริษัทใหม่จะขึ้นอยู่กับทิศทางการดำเนินงานและโครงสร้างของบริษัท ปัจจัยกังวลในการควบบริษัทคือทั้ง 2 บริษัทต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและจากเจ้าหนี้ของทั้ง 2 บริษัทเสียก่อน โดยในส่วนของเจ้าหนี้นั้น บริษัทได้จัดเตรียมวงเงินเอาไว้รองรับการไถ่ถอนหนี้คืนอย่างเพียงพอแล้ว