LANNA เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินพม่า-เขมร พร้อมลุยโรงไฟฟ้าขยะในประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 24, 2015 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) กล่าวถึงแผนลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเดิมทั้งถ่านหินและเอทานอลว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาเพื่อเข้าร่วมทุนกันพันธมิตรตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาร์ รวมทั้งศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าในกัมพูชา ซึ่งอาจเป็นรูปแบบของสัมปทาน

พร้อมกันนั้น ยังเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะขนาด 3-8 เมกะวัตต์ในประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและหาผู้ร่วมทุน โดยบริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในไตรมาส 3/58 ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากในหลัก 100 ล้านบาท

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ในอนาคตก็จะมีธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาเสริมอีกทางหนึ่ง แต่คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัทมองการลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียและในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรเพื่อเข้าลงทุน เนื่องจากปัจจุบันอินโดนีเซียมีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 35,000 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดประมูลกำลังการผลิตโครงการละ 150-300 เมกะวัตต์

"ปัจจุบันมีถ่านหินและเอทานอล ตอนนี้พยายามจะไปทำไฟฟ้า โดยที่ไฟฟ้ายังมีความเป็นถ่านหินอยู่ในฐานะที่เราเป็นซัพพลายเออร์ และจะไปกับ partner ที่จะเห็นก่อนน่าจะร่วมกับพันธมิตรที่อินโดฯ...ปีหน้าเมื่อเริ่มทำธุรกิจใหม่ก็คงจะช่วยหนุนผลประกอบการได้ และในอนาคตธุรกิจถ่านหินก็จะไม่ bright แล้ว แต่คงไม่ถอดใจ ตอนนี้กำไรมาจากธุรกิจถ่านหินและเอทานอลใกล้เคียงกัน ก็หวังว่าในอนาคตธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นธุรกิจที่ใหญ่และ contribute บริษัทแม่ได้ดีรายได้อาจจะเข้ามาราว 30% ก็ได้"นายสีหศักดิ์ กล่าว

สำหรับธุรกิจถ่านหินในปีนี้นั้น นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับลดเป้าหมายปริมาณขายถ่านหินในปีนี้ลงราว 7-8 แสนตัน จากเดิมตั้งเป้าขายที่ 6 ล้านตัน เนื่องจากอาจจะลดการผลิตถ่านหินจากเหมือง SGP ลงหลังเผชิญภาวะขาดทุนจากราคาถ่านหินที่อยู่ระดับต่ำ โดยอยู่ระหว่างจัดทำแผนการผลิตใหม่เพื่อผลักดันให้เหมืองดังกล่าวกลับมาทำกำไรได้ ส่วนธุรกิจเอทานอลเชื่อว่าจะทำกำไรในปีนี้ได้ดีกว่าปีก่อน พร้อมศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจในอนาคต

เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณขายถ่านหินจากเหมือง SGP ในปีนี้ราว 2.5-2.7 ล้านตัน และเหมือง LHI ราว 3-3.5 ล้านตัน แต่อาจลดกำลังผลิตจากเหมือง SGP ลง 7-8 แสนตัน เหลือผลิตเพื่อขายเพียง 2 ล้านตัน เนื่องจากในไตรมาส 1/58 เหมือง SGP เผชิญภาวะขาดทุนแล้วหลังจากราคาถ่านหินในตลาดโลกยังปรับตัวลงต่อเนื่อง ดังนั้น ฝ่ายบริหารจัดการจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาลดปริมาณการผลิตลงเพื่อประคองไม่ให้ปีนี้เกิดผลขาดทุน

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทประเมินว่าราคาถ่านหินยังเป็นขาลง โดยในช่วงครึ่งแรกปี 59 คาดว่าจะปรับลงมาอยู่ที่ 52-56 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 60-62 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาเฉลี่ยในปีที่แล้วอยู่ที่ 70.82 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาด โดยเห็นว่าระดับราคาถ่านหินที่ต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/ตันอาจทำให้มีผู้ประกอบการเหมืองบางรายต้องหยุดการผลิต ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็มีแผนจะควบคุมปริมาณการผลิตถ่านหินของประเทศให้ลดลงราว 50 ล้านตันเพื่อรักษาระดับราคาถ่านหินไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้

"เหมือง SGP ปัจจุบันขาดทุนแล้ว ยังมีโอกาสปรับต้นทุนได้ ยอมรับว่าถ้าจบสิ้นปีอาจต้องทิ้ง reserve ไปบ้างเพื่ออยู่รอด แต่เชื่อว่าครึ่งหลัง SGP จะดีขึ้นจากการพยายามประคับประคองด้วยการลดต้นทุน ลดกำลังผลิตจาก 2.7 ล้านตัน เหลือ 2 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผนครึ่งปีหลังเพื่อให้เหมือง SGP มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ เพราะไตรมาส 2 นี้ไม่ต่างจากไตรมาส 1 แต่ไม่ขาดทุนมากเท่า หลังจากให้มีการปรับการผลิตแล้ว เพราะถ้าทำมากไปแล้วไม่กำไรก็ตัดออกไป"นายสีหศักดิ์ กล่าว

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ในอินโดนีเซียขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากราคาถ่านหินปรับลงไปอีก ทำให้ต้องกลับไปเจรจาใหม่ เพราะจากเดิมที่เจรจาไว้ได้รับอัตรากำไร(มาร์จิ้น)พอสมควร แต่ปัจจุบันมาร์จิ้นเหลือน้อยแล้ว จึงต้องกลับไปเจรจาเรื่องราคาอีกรอบเพื่อให้ได้ราคาลดลง โดยเหมืองถ่านหินที่เจรจาซื้อไว้นั้นมีปริมาณสำรอง 30 ล้านตัน อายุ 10 ปี ผลิตได้ปีละ 2-3 ล้านตัน

ส่วนการดำเนินธุรกิจเอทานอลในปีนี้ เชื่อว่าจะยังทำกำไรให้กับบริษัทได้ดีกว่าปีก่อน โดยตั้งเป้าปริมาณขายไว้ที่ 105 ล้านลิตร และในไตรมาสแรกขายได้แล้ว 27 ล้านลิตร เติบโต 9.9% จากงวดเดียวกันปีก่อน ได้ราคาเฉลี่ย 25.64 บาท/ลิตร แต่แนวโน้มไตรมาส 3/58 ราคาอาจปรับลงเล็กน้อย หรือขายได้ไม่ถึง 25 บาท/ลิตร

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กลุ่มบริษัทมีการบริหารจัดการวัตถุดิบได้ดีขึ้น เพราะซื้อน้ำตาลดิบเข้ามาเสริมทำให้คาดว่าคงไม่ต้องหยุดการผลิตโรงงานเอทานอล ส่วนการศึกษาใช้น้ำเชื่อมเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลนั้นยังคงศึกษาความเป็นไปได้อยู่ โดยเบื้องต้นเห็นว่าการใช้น้ำเชื่อมเป็นวัตถุดิบจะดีก็ต่อเมื่อวัตถุดิบกากน้ำตาลไม่เพียงพอ ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาอีกนานอาจจะเป็นช่วงปี 61

LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 64 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตถ่านหินออกจำหน่ายปีละประมาณ 3 ล้านตัน และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP ขณะเดียวกัน LANNA ยังถือหุ้น 51% ในบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) ซึ่งทำธุรกิจเอทานอลด้วย

ปัจจุบัน LANNA มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 18 มี.ค.58 ลำดับที่ 1 ยังเป็น บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) ถือ 44.99% อันดับ 2 นายทวีฉัตร จุฬางกูร ขยับขึ้นมาถือ 9.28% จากเดิมถือ 2-3% โดยในเรื่องนี้นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทก็ไม่เคยเจรจากับนายทวีฉัตรถึงสาเหตุที่เข้ามาถือหุ้นเพิ่มใน LANNA หรือจะต้องการเข้ามาเป็น strategic partner หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ