นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของ PTT และ RATCH เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal ในเมียนมาร์ รวมถึงเป็นโอกาสในการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ
ฉบับที่ 2 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่าง บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส จำกัด และ RATCH เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาร์
ฉบับที่ 3 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ RATCH เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย และโครงการโรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในตอนกลางของเวียดนาม
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวภายหลังการร่วมลงนามว่า โครงการ LNG Receiving Terminal ในเมียนมาร์ มีแนวโน้มเห็นผลสำเร็จเร็วที่สุดหลังจากที่ได้มีการหารือกันกับฝ่ายเมียนมาร์แล้วก่อนหน้านี้ โดย RATCH จะลงทุนร่วมโครงการนี้สัดส่วน 25-30% ส่วนอีก 70-75% ถือหุ้นโดย PTT และพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่ง PTT เป็นผู้ศึกษาหลักในโครงการนี้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีขนาดกำลังผลิต 3 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี ซึ่งอีก 5-6 ปีข้างหน้าหลังจากแหล่งเยตากุน,ยาดานาและเจดีเอหมดอายุสัมปทาน โดยโครงการ LNG Receiving Terminal เฟสที่ 2 คาดว่าจะมีขนาด 7 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เชียงตุงในเมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1.2- 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ RATCH จะเข้าร่วมทุนประมาณ 50% ส่วน PTT ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ที่เหลือเป็นผู้ร่วมทุนท้องถิ่น โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้คาดว่าจะขายไฟฟ้าให้แก่ไทย 500 เมะกวัตต์ในปี 65 ซึ่งโครงการนี้มีโอกาสจะสำเร็จเป็นลำดับต่อมา
นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเชียงตุงได้ลงนามในข้อตกลง(MOA)กับรัฐบาลพม่าแล้ว อายุสัมปทาน 30 ปี ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเจรจาเรื่องสิทธิกับ 3 หน่วยงานหลักของเมียนมาร์ ขณะเดียวกันจะมีเหมืองถ่านหินในพื้นที่เดียวกันเป็นเชื้อเพลิง ปริมาณสำรองราว 100-120 ล้านตัน โดยยังไม่ได้ประเมินเงินลงทุนและกำหนดว่าฝ่ายใดจะลงทุนสัดส่วนอย่างไร
สำหรับโครงการร่วมทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย โครงการแรกคือการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าซัมเซล กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และความร่วมมือตั้งโรงไฟฟ้าในเวียดนามขึ้นอยู่กับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ของกลุ่ม PTT หากเริ่มก่อสร้างได้ก็จะมีความต้องการโรงไฟฟ้าเบื้องต้น 500 เมกะวัตต์ ซึ่งทาง RATCH จะเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 30%
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวถึงการลงทุนของ RATCH ในโรงไฟฟ้าเมืองมะริดของเมียนมาร์ กำลังการผลิต 2,460 เมกะวัตต์ว่า RATCH ถือหุ้นในสัดส่วน 45% ขณะนี้รอการอนุมัติจากรัฐบาลพม่า คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน หรืออาจจะล่าช้าไปกว่านั้นหากมีการเลือกตั้งเมียนมาร์ในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุนเพิ่มเติม โดยอาจจะร่วมกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ชั่นซินเนอร์ยี่ (GSPC) ซึ่งล่าสุดกลุ่มทุนไต้หวันได้ติดต่อให้บริษัทเข้าร่วมทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น จำนวน 70-100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ คาดว่าฝ่ายไทยจะถือหุ้นในสัดส่วน 60%
ทั้งนี้ บริษัทยังมั่นใจว่าจะเดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิต 9,700 เมกะวัตต์ในปี 66
นายพงษ์ดิษฐ ยังคาดว่า ในปีนี้กำไรของ RATCH น่าจะทำได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เบื้องต้น 5,200 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากโครงการหงสาในช่วงทดลองเดินเครื่องที่จะรับรู้รายได้เพิ่มเข้ามาราว 400-500 ล้านบาท