นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังมองว่าภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงครี่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาในครึ่งปีหลัง และความชัดเจนการเกิดของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และจะช่วยส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศจะเห็นการฟื้นตัวกลับมา
นางภัทธีรา มองว่า เม็ดเงินที่เคยไหลออกจากภูมิภาคอาเซียนไปสู่ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง โตเกียว อินเดีย จะเริ่มทยอยกลับมาในครึ่งปีหลัง และ นักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นในเออีซียังมีโอกาสทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีอยู่
"ในส่วนตลาดหุ้นไทยจะดีหรือไม่ดีในครึ่งปีหลังขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของเรา ซึ่งตอนนี้นักลงทุนต่างก็รอดูสถานการณ์อยู่ ว่าเศรษฐกิจเราจะเป็นอย่างไร ณ เวลานี้ แนะนำให้นักลงทุนทยอยเข้าสะสมไปก่อน เพราะตลาดหุ้นบ้านเรายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก ราคาจะแพงหรือไม่แพงก็ดูที่ Earning ของบริษัทจดทะเบียนประกอบ แต่มองว่า ณ ราคา พี/อี ที่ 16-17 เท่า ดัชนี 1,500 จุด เป็นระดับที่เหมาะสมเข้ามาลงทุน" นางภัทธีรา กล่าว
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ขณะนี้นักลงทุนคลายกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น ส่วนการปัญหาการชำระหนี้ของกรีซก็คงต้องรอว่าจะเจรจาสำเร็จหรือไม่ ซึ่งความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ยังไปได้ด้วยดี แต่ก็ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีความไม่แน่นอนอยู่
อย่างไรก็ดี ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท/วัน เนื่องจากนักลงทุนรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังว่าจะออกมาเป็นอย่างไรทำให้ปริมาณการซื้อขายไม่ได้สูง แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าซื้อขายอยู่ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ย 4-5 หมื่นล้านบาท/วัน
"ตอนนี้ปริมาณการซื้อขายน้อย กังวลว่าต่อนี้ไปหากปริมาณซื้อขายไม่ได้เพิ่มไปกว่านี้หรืออยู่ระดับต่ำอย่างนี้ไปเป็นปี เรากังวลโบรกฯรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจะมีปัญหา เพราะยังมีส่วนต่างมาร์เก็ตแชร์ที่น้อย ตรงนี้เราก็อยากให้ ก.ล.ต.ข่วยคัดกรองโบรกฯรายใหม่เข้ามาให้มากขึ้น อยากได้คนที่จะสร้างประโยชน์และนำสิ่งใหม่ๆที่ดีให้ตลาดทุนไทย"
อีกทั้งในปีหน้า สำนักหักบัญชี (TCH) ของตลาดหลักทรัพย์จะมีการปรับเพิ่มเงินกองทุนซื้อขายหลักทรัพย์โดยเก็บเพิ่มจากบริษัทหลักทรัพย์ จุดนี้จะทำให้ต้นทุนของบริษัทหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้น จึงกังวลว่าบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่จะไม่มีความสามารถในการจ่ายได้มาก หรืออาจมีปัญหา เพราะที่ผ่านมา30 ปีไม่เคยปรับหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ
นางภัทธีรากล่าวว่า สำหรับมาตรการสกัดหุ้นร้อน อยากให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)แยกแยะระหว่างหุ้นเก็งกำไรกับหุ้นปั่นให้ถูกต้อง เพราะหาก ก.ล.ต.สร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น จะส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทยซบเซาลง เนื่องจากไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน