AOT คาดเปิดประมูลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 -รันเวย์ที่ 3 ได้ปลายปี 58

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 26, 2015 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่าในปลายปีนี้จะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่างาน 5.6 หมื่นล้านนบาท จากเดิมงบลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาท จากปรับลดงบได้ 6 พันล้านบาท และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว เมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถได้ผู้รับเหมาในเดือนมี.ค. 59

ทั้งนี้เป็นงาน งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด ,อุโมงค์ส่วนขยาย และ ระบบสาธารณูปโภค , อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1, งานส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกและอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านตะวันออกและงานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 45 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 ทั้งนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี ซึ่งเกินกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี

ส่วนงานทางวิ่ง หรือรันเวย์ที่ 3 วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าก่อสร้าง 1 หมื่นล้านบาท และค่าชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบอีก 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) ร่วมกับ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)เป็นครั้งแรก และคาดว่าน่าจะผ่านขั้นตอนนี้ได้ไม่เกินเดือน ค.ค.58 จากนั้นจะเปิดประมูลหาบริษัทผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 62

นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ด้านเหนือ) วงเงิน 2.76 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ประกอบด้วยงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก และงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน ระยะเวลาก่อสร้าง 45 เดือนหรือเกือบ 4 ปี คาดจะแล้วเสร็จปี 62-63 โดยหากผ่าน EIA ในช่วงต้นปี 59 แล้วก็จะเปิดประมูลงานก่อสร้าง ทั้งนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 20 ล้านคน/ปี รวมแล้วจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคน/ปี

นายนิตินัย กล่าวว่า เงินลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 และรันเวย์ที่ 3 รวมแล้ว 1.04 แสนล้านบาท แหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนลำดับแรกจะใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยปัจจุบันบริษัมีกระแสเงินสดกว่า 4 หมื่นล้านบาท และจะมาจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่คาดจะมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งจะเริ่มใช้จ่ายสำหรับงานก่อสร้างตั้งแต่ปลายปีนี้

แต่คาดว่าในปี 61 กระแสเงินสดอาจจะไม่เพียงพอต่อการลงทุน บริษัทได้มองแนวทางหาเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพราะปัจจุยันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ต่ำมาก หรืออาจจะออกหุ้นกู้ และอีกแนวทางที่จะระดทุนคือจะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน(IFF) โดยหากเทียบต้นทุนการเงินการออกหุ้นกู้สูงกว่าการออกกองทุนรวมIFF ก็มีแนวโน้มจะออกกองทุน IFF

"เราคาดว่า Cash จะช็อตในปี 61 คือจากนี้ไปถึงปี 61 ใช้เงินสดเราลงทุนเพราะต้นทุนถูกสุด และก็มาหาแหล่งเงินอื่น ถ้าหุ้นกู้แพงกว่า กองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็อาจจะออกกองทุน เราไม่ได้ ignore เรื่องกองทุนโครงสร้งพื้นฐาน"นายนิตินัย กล่าว

สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองที่จะต้องมีการขยายรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ขยายเพื่อให้รองรับได้เพิ่มอีก 12 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับได้เพียง 8 ล้านคน/ปี รวมเป็น 20 ล้านคน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 61 นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่วางแผนสร้างเสร็จในปี 63 เพื่อให้รองรับได้เพิ่มเป็น 30 ล้านคน/ปี ซึ่งยังไม่ได้สรุปงบชัดเจน

ทั้งนี้การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและ ท่าอากาศยานดอนเมือง จะทำให้ AOT สามารถมีท่าอากาศยานในกรุงเทพรองรับได้ถึง 110 ล้านคน/ปี ภายในปี 63

*คาดรายได้โตมากกว่า 10% ในช่วง 3 ปีจากปีนี้โต 19%

นายนิตินัย คาดว่ารายได้ปีนี้ (สิ้นสุด ก.ย.)จะเติบโต 18-19% ที่มาจากปัจจัยสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์) มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากเดิมตั้งเป้า 10% และปรับเป้าหมายไปแล้วเป็น 15%

สำหรับในช่วง 3 ปีข้างหน้า(ปี 59-61) ประมาณการรายได้แบบconservative คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 10% ซึ่งก็จะมาจากการเติบโตของตลาดโลก และการขยายตัวต่อเนื่องของสายการบินต้นทุนต่ำ

"มั่นใจเติบโต Double Digit ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากแนวโน้มเทรนตลาดโลกฟื้นตัว และเห็นการสั่งเครื่องบินของสายการบินต้นทุนต่ำจำนวนมาก หลักๆได้ค่า PSC จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ" นายนิตินัยกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน AOT เก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ 700 บาท/คนโดยมีต้นทุนอยู่ราวกว่า 500 บาท/คน ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศเก็บ 100 บาท ขณะที่ต้นทุนขึ่นไปกว่า 200 บาท/คน ทั้งนี้ คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.)เป็นผู้ดูแลค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร แต่คาดว่าหากการพัฒนาขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเสร็จสิ้นคาดว่าจะขอปรับเพิ่มค่า PSC ได้

นอกจากนี้ การเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ได้มีนักท่องเที่ยวมาลงเครื่องที่ไทยมาก แต่บินอออกจากสนามบินประเทศเพื่อนบ้านทำให้ AOT ไม่สามารถเก็บค่า PSC เพราะเก็บตอนขาออก เท่ากับ AOT อุดหนุนให้กับประเทศเพื่อบ้าน โดยประเมินว่ามีนักท่องเที่ยวลักษณะเช่นนี้มีสัดส่วน 10% โดยที่ผ่านมายังมีจำนวนไม่มาก แต่คาดว่าหากเปิด AEC ในต้นปี 59 จะมีคนใช้สนามบินของไทยไปบินต่อในประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น ทำให้เกิดความไม่สมดุล ขึงจะคาดการณ์ตัวเลขรายได้ค่อนข้างยาก

นายนิตินัย ยังกล่าวว่า บริษัทเตรียมที่จะดำเนินธุรกิจในส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจการบิน (Non-Aero) เพราะส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เวนคืน ซึ่งเข้าไปใช้พื้นที่ไม่ได้ ทั้งนี้ AOT เตรียมจะหารือร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมธนารักษ์ กรมการบินพลเรือน (บพ.) และ กองทัพอากาศ ในการเข้าใช้พื้นที่เหล่านี้ คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ หรือภายในปีนี้

พื้นที่ว่างเปล่าที่มีอยู่ได้แก่ ในสนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่อยู่ประมาณ 1,000 ไร่ ที่เดิมมีแผนจะดำเนินโครงการ Airport City ที่หาดใหญ่มีพื้นที่ 2,200 ไร่ ที่เขียงรายมีจำนวนกว่า 4 พันไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ