ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่อยู่ระดับสูงของบริษัท ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากขนาดการผลิตน้ำตาลที่ค่อนข้างขนาดเล็กและการมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไว้ได้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการเติบโตของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลไว้บางส่วน นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ในช่วงขยายการลงทุนไว้ได้
อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากบริษัทมีกระแสเงินสดคงที่มั่นคงเพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาล การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนจำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2506 โดยกลุ่มตระกูลตั้งตรงเวชกิจและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลตั้งตรงเวชกิจถือหุ้นในสัดส่วน 74.3% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 1 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวมเท่ากับ 17,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัท สามารถหีบอ้อยได้ 1.95 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลได้ 230,379 ตัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 2% หากพิจารณาจากผลผลิตน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทสามารถผลิตน้ำตาลสูงถึง 118.07 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยที่ 106.65 กก. ต่อตันอ้อย และสูงเป็นอันดับ 3 จากโรงงานน้ำตาล 50 โรงทั่วประเทศ
บริษัทผลิตน้ำตาลทราย 2 ประเภท คือ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภายในประเทศ และน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออก นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย โดยบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจำนวน 16 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) โรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาด 8 เมกะวัตต์และโรงงานปุ๋ยของบริษัทได้เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2555 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจไฟฟ้าและปุ๋ยคิดเป็น 8%-12% ของรายได้รวมทั้งหมดในช่วงปี 2555-2557 และคาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของบริษัทเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2558
ผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นไปสูงสุดในปี 2554 และได้ปรับตัวลงในช่วงปี 2555-2557 เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลทุกแห่งเนื่องจากราคาน้ำตาลที่อ่อนแอ แม้ว่าราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง แต่รายได้รวมของบริษัทยังคงเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 3,920 ล้านบาท ในปี2558 คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 4.7% ต่อปี ในช่วงปี 2554-2557 การเติบโตของรายได้รวมมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายน้ำตาล โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 174,195 ตัน ในปี 2554 เป็น 209,226 ตัน ในปี 2557 ปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการสนับสนุนชาวไร่อ้อยให้เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่และบริษัทสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าแห่งแรกและโรงงานปุ๋ยยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ของบริษัท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางที่ 10.1%-13.1% ในช่วงปี 2555-2557 ซึ่งใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กอื่น ๆ แต่ต่ำกว่าโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับ 15%-20% ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของโรงงานน้ำตาลลดลงในช่วงปี 2555-2557 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 10.1%-13.1% ในช่วงปี 2555-2557 จากระดับสูงสุดที่ 18.3% ในปี 2554
อย่างไรก็ตาม ระบบแบ่งปันผลประโยชน์และความสามารถในการหีบอ้อยของบริษัทที่เพิ่มขึ้นช่วยลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลงได้บางส่วน โดยในปี 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลง 7% จากปี 2556 แต่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายยังเพิ่มขึ้นเป็น 12.1% ในปี 2557 จาก 10.1% ในปี 2556 การเพิ่มขึ้นของปริมาณอ้อยเข้าหีบและต้นทุนอ้อยต่อหน่วยที่ลดลงตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลง นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำไรของบริษัท ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 487 ล้านบาทในปี 2557 จาก 433 ล้านบาท ในปี 2556
โครงสร้างหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้รับเงินเพิ่มทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 79.7% ในปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 58.8% ในปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงเป็น 11.95% ในปี 2557 จาก 21.15% ในปี 2555 เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงและเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเช่นกันโดยลดลงเป็น 4.2 เท่าในปี 2557 จาก 6.0 เท่าในปี 2554
ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่เพื่อขยายกำลังการหีบอ้อยและสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของบริษัทและ EBITDA ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ระดับประมาณ 450-550 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
อุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 โดยลดลง 12% มาอยู่ที่ระดับ 14.37 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 16.34 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 สต็อกน้ำตาลคงค้างจำนวนมากในตลาดโลกยังคงกดดันราคาน้ำตาลให้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเรียลของบราซิลต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลลดลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก