(เพิ่มเติม) SUPER ร่วมทุนทำโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นสร้างครบ 300 MW ต้นปี 60,ซื้อกิจการในปท.1 แห่งปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 29, 2015 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก(SUPER)เปิดเผยว่า บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่น คือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ ในสัดส่วน SUPER ถือหุ้น 76% และพันธมิตรญี่ปุ่นถือ 24% เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตทั้งหมด 300 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเมืองใกล้กับกรุงโตเกียว มูลค่าโครงการรวม 2.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินลงทุน 90 ล้านบาท/เมกะวัตต์ โดยใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินไทยที่มีสาขาในญี่ปุ่นสัดส่วน 15% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ปัจจุบัน บริษัทได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วจำนวน 70 เมกะวัตต์และจะเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาส 4/58 ยังเหลืออยู่ 230 เมกะวัตต์จะทยอยจะขออนุญาตก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเสนอราคาเพื่อทำสัญญาขายไฟฟ้ากับทางญี่ปุ่นทั้งหมด 300 เมกะวัตต์ช่วงราคา 32-36 เยน/หน่วย คาดว่าได้รับสัญญาครบทั้งหมดภายในปี 59 โดยตั้งเป้าโครงการร่วมทถุนดังกล่าวมีผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ที่ระดับ 14-18%

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบทั้งโครงการ หรือครบ 300 เมกะวัตต์ภายในปลายปี 59 ถึงต้นปี 60

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า ในปี 58 บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่ 500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันโครงการในประเทศนั้นบริษัทมีใบอนุญาตโครงการโซลาร์ฟาร์มในมือแล้ว 131.6 เมกะวัตต์ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.58) จะมีการเซ็นสัญญาการกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ(BBL)วงเงินราว 6.7 พันล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการดังกล่าวที่จะเริ่มทยอยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.58 เป็นต้นไป

ขณะที่บริษัทยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU)โครงการโซลาร์ฟาร์มอีก 251 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 382.6 เมกะวัตต์ อีกทั้งบริษัทยังรอการเจรจาเข้าร่วมในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ภาครัฐจะรับซื้อไฟฟ้าจากสหกรณ์และหน่วยงานราชการ โดยบริษัทมีเป้าหมายจะได้ส่วนแบ่งมาอีก 200 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่ภาครัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ เพื่อทำให้แผนงานในปีนี้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่ายังไม่มั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากโครงการโซลาร์ฟาร์มต่างๆ ยังไม่ได้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เต็มที่ แต่เบื้องต้นมั่นใจว่าจะมีกำไร ขณะที่บริษัทประเมินว่ารายได้ในปี 59 จะเติบโตก้าวกระโดดจากปี 58 หรือมีรายได้ในปีหน้าอย่างน้อย 4.5 พันล้านบาท หลังจากรับรู้รายได้โครงการลงทุนด้านพลังงาน คือ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในเชิงพาณิชย์ได้เต็มที่ทั้งปี

"ปีนี้ยังไม่แน่ใจว่ารายได้จะเป็นเท่าไหร่ แต่ก็จะมีกำไร เพราะปีนี้ COD ไม่เต็มปี แต่ปีหน้าจะ COD เต็มปีรายได้ก็ไม่ต่ำกว่า 4.5 พันล้านบาทถ้าคิดทั้งหมด 500 MW ซึ่ง 500 MW นี้เราก็ใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท และเราก็ยังเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตต่อไปอีก ปีหน้าก็เป็น 1,000 MW, ปี 60 ก็เป็น 2,000 MW"นายจอมทรัพย์ กล่าว

นายจอมทรัพย์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการด้านพลังงานทดแทนทุกประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และโรงไฟฟ้าขยะ โดยมีการเจรจาอยู่ราว 3-4 แห่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้อย่างน้อย 1 แห่ง โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสดงินสดของบริษัท และการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ SUPER-W1 ,SUPER-W2 และ SUPER-W3 รวมถึงการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งรวมทั้งหมดบริษัทจะได้รับเงินจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 2 พันล้านหุ้น ราคา 2.50 บาท/หุ้น บริษัทอยู่ระหว่างการสรรหา Strategic Partner เข้ามาซื้อหุ้น เพื่อช่วยเสริมศักภาพให้กับบริษัท โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจากสหรัฐฯได้เข้ามาเจรจากับบริษัทเพื่อขอซื้อหุ้น PP แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งบริษัทยังมีระยะเวลาในการสรรหาและขายหุ้น PP ได้อีก 1 ปี

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ บริษัทจะมีการย้ายหมวดการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นหมวดพลังงาน จากปัจจุบันอยู่ในหมวดวัสดุก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ