TPCH เผยโรงไฟฟ้า MGP-TSG ได้เซ็นสัญญา PPA แบบ Feed-in Tariff แล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 30, 2015 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง(TPCH) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) ได้เซ็นสัญญา PPA แบบ Feed-in Tariff เรียบร้อยแล้ว

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี่(MWE)ที่ จ.นครสวรรค์ จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกด้วยกำลังการผลิตตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ ภายในเดือน ก.ค.58 โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกที่ขายไฟฟ้าด้วยระบบ FiT แทนที่ระบบ Adder

“TPCH ได้รับใบอนุญาต หรือ ใบตอบรับซื้อไฟฟ้า ครบแล้ว 6 โครงการ (อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง) โรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง MGP และ TSG ก็ได้เซ็นสัญญา PPA แบบ Feed-in Tariff เรียบร้อยแล้ว"นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ขณะที่โครงการใหญ่ แห่งที่ 7 ที่ จ.ปัตตานี 42 เมกะวัตต์ เฟส 1 อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งบริษัทมั่นใจมากว่าจะได้รับการอนุมัติ เนื่องจากระบบสายส่งมีความพร้อมและอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้าอีกด้วย ขณะที่แผนส่วนเพิ่ม 50 เมกะวัตต์ บริษัทเริ่มงานด้านมวลชนแล้ว 3 แห่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากความสำเร็จของโครงการ CBR ทำให้ตอนนี้บริษัทมีสัญญา PPA ในมือแน่นอนแล้วทั้งหมดประมาณ 80 เมกะวัตต์

แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/58 บริษัทคาดจะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 60-66 ล้านบาท หลังจากไตรมาสที่ผ่านมาหยุดบำรุงรักษาเครื่องจักร 8 วันสอดรับกับการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) แต่ก็มีรายได้จากการขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า 1 แห่ง คือโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรกไบโอเพาเวอร์(CBR)เข้ามาสนับสนุน และการหยุดซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรใช้ระยะเวลาน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ผลประกอบการทั้งปีนี้ยังคาดว่าจะออกมาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ เติบโต 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะได้รับสัญญา PPA ในปี 58 เพิ่มจำนวน 30-50 เมกะวัตต์ และในปี 2560 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ และในปี 62-63 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ในระยะ 3 ปีครึ่ง ดังนั้นจะส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการได้รับสัญญา PPA ต้องเข้าสู่การประมูล ซึ่งจะมีความชัดเจน ภายในปลายเดือน ก.ค.58 จากข้อมูลเบื้องต้นในการเปิดประมูลในครั้งนี้ เป้าหมายพลังงานทดแทนมาจาก 3 กลุ่มด้วยกัน 1) ชีวมวล 2) ชีวภาพ 3) ลม ซึ่งชีวมวลได้ถูกกำหนดให้ความสำคัญเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของบริษัท

“การเติบโตของบริษัทเป็นการเติบโตที่เป็นไปได้จริง เนื่องจากได้รับใบอนุญาตและดำเนินการก่อสร้างแล้ว จึงวางเป้าหมายที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ ซึ่งบริษัทมีกลุ่มพันธมิตรที่พร้อมจะเติบโตไปตามเป้าหมายที่บริษัทได้วางไว้ ส่วนทั้งปีนี้ก็มั่นใจว่ารายได้จะเติบโต 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท"นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ