ทั้งนี้ BR เป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อเป็ดแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งมีฐานการผลิตทั้งในไทยและยุโรป ครอบคลุมตลาดทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อรองรับการขยายกิจการอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง โดยบริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่เคยจดทะเบียนตั้งแต่ปี 36 และขอถอนหุ้นออกไปเมื่อปี 52 เนื่องจากการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่เป็นไปตามเกณฑ์
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนและการเข้าซื้อกิจการ BR คืนจากกองทุน เนวิส แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ (ประเทศไทย) และราโบ แคปปิตอล บี.วี. ด้วยมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อคืนจากนักลงทุนต่างชาติส่งผลให้บริษัทกลับคืนมาอยู่ในอำนาจการบริหารของคนไทย
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บัวหลวง ในฐานะแกนนำร่วมในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญของ บางกอกแร้นช์ เปิดเผยว่า หุ้นของบางกอกแรนช์ที่จะเสนอขาย IPO จำนวน 360.40 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์หุ้นละ 5 บาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 228 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิม 132.40 ล้านหุ้น แบ่งจัดสรรกระจายหุ้นให้นักลงทุนสถาบัน 60% และประชาชนทั่วไป 40%
ทั้งนี้ การเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 8.8 บาทนั้น บางกอกแร้นช์คาดจะได้รับเงินจากการระดมทุนราว 2 พันล้านบาท โดยการกำหนดราคาที่ระดับดังกล่าวมาจากการทำ Book building และมีระดับพีอีประมาณ 10 เท่า ถือว่าเป็นราคาที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับราคาของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดปัจจุบันพีอีสูงถึง 14-15 เท่า ทำให้มองว่าราคา IPO ระดับนี้จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นบางกอกแร้นช์ยืนเหนือราคาจองได้ และให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน ประกอบกับช่วงวันจองซื้อหุ้นของสถาบัน พบว่ามีปริมาณการจองสูงกว่าจำนวนหุ้น 4-5 เท่า
"ราคานี้ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจากช่วง Book building กับสถาบันบางรายให้ราคาสูงกว่า 10 บาท ประกอบกับ ที่ผ่านมาอุตสหกรรมเป็ดมีสเถียรภาพ ไม่เคลื่อนไหวแกว่งตัว เช่นราคาไก่ ทำให้ผลการดำเนินของบริษัทมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าเปิดการซื้อขายวันแรกจะราคาหุ้นจะยืนเหนืองราคาจองซื้อ IPO ที่ 8.80 บาท และให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจต่อนักลงทุน"นายพิเชษฐ กล่าว
สำหรับวันเสนอขาย IPO หุ้นบางกอกแรนช์นั้น จะอยู่ระหว่างวันที่ 3 ก.ค. - 8 ก.ค. (ครึ่งวันที่ 8 ก.ค.58) และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 15 ก.ค. 58 ซึ่งนักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้นได้ที่ บล.ไทยพาณิชย์ ,บล.บัวหลวง, บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส และบล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)
ด้านนายโจเซฟ สุเชาว์วณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบางกอกแร้นช์ เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ในการขยายกิจการ ด้วยการลงทุนส้รางโรงงานเป็ด สร้างโรงงานชำแหละ และแปรรูปเนื้อเป็ดเพิ่มอีก 1 แห่ง มูลค่าลงทุน 900 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตได้ช่วงต้นปี 60 ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวสามารถผลิตเนื้อเป็ดได้ประมาณ 9-10 ล้านต้น/ปี ทำให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากเดิมที่ทั้งกลุ่มมีกำลังการผลิต 22 ล้านตัน/ปี โดยโรงงงานดังกล่าวได้รับการออกแบบให้รองรับการขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต "เรามีความเชื่อมั่นในการขยายธุรกิจอย่างมั่นคงและต่อเนื่องด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ดสดและเนื้อเป็ดปรุงสำเร็จ ให้เข้าสู่ตลาดใหม่ที่สำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนามและจีน ที่มีประชากรร่วมกันมากกว่า 1.6 พันล้านคน และมีกำลังซื้อสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัท ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะตลาดเหล่านี้เป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญ และเราเป็นบริษัทแรกของไทยที่ส่งเนื้อเป็ดไปยังประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ บริษัทจะยังขยายตลาดในประเทศไทยไปยังจังหวัดจังหวัดใหญ่ อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชชธานี สงขลา เพื่อรองรับกำลังการผลิตทีเพิ่มขึ้น" นายโจเซฟ กล่าว
นายชยุตม์ หลีหเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินกลุ่ม บางกอกแร้นช์ กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนจำนวน 750 ล้านบาทไปใช้ชำระหนี้สถาบันทางการเงิน โดยจะทำให้อัตราหนี้สิ้นต่อทุน(D/E)ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาด D/E จะลดเหลือ 0.4 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน และช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง และมีสเถียรภาพในระดับสูง โดยปัจจุบันบริษัทมีการเติบโตที่ดี โดยตั้งเป้ามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เติบโตระดับ 10-20% ต่อปี สะท้อนว่าบริษัทมีการเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสหกรรม