บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เป็นครั้งแรกที่ธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งส่งสัญญาณว่าคุณภาพสินทรัพย์กำลังอ่อนแอลงอย่างจริงจัง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากสินเชื่อกลุ่ม SME ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้นอีกในครึ่งหลังของปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งกดดันให้ธนาคารส่วนใหญ่ไม่สามารถเพิ่มรายได้ขึ้นได้ (ทั้ง NII และ Non-NII) ทำให้ให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าธนาคารกำลังเผชิญกับแรงกดดันสองด้าน คือทั้งรายได้ลดลงและความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์
ขณะที่การตั้งสำรองก้อนใหญ่ของธ.กสิกรไทย(KBANK) ซึ่งเป็นนโยบายการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับปัญหากลุ่ม SME กระทบกับผลประกอบการ ซึ่งเป็นการกดดันธ.ทหารไทย(TMB) ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ SME สูงเหมือนกัน ในขณะที่ ธ.ไทยพาณิชย์(SCB),ธ.กรุงเทพ(BBL),ธ.กรุงไทย(KTB) ก็ตั้งสำรองเพิ่มสำหรับการปล่อยกู้ในกรณีพิเศษ มีเพียงธนาคารขนาดเล็กเท่านั้นที่ผลการดำเนินงานยังทรงตัวอยู่ อย่างไรก็ตามมองว่าหุ้นธนาคารกำลังใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และควรรอจังหวะที่จะเข้าช้อนซื้อ
สำหรับประมาณการกำไรในไตรมาส 2/58 คาดว่ากำไรสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง (ไม่รวม BAY) จะลดลงถึง 12% QoQ และ 13% YoY จากอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง (LLP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีของธนาคารที่มีสัดส่วนการปล่อยกู้ SME สูง (KBANK KTB และ TMB) ในขณะที่ NPL ใหม่ของสินเชื่อรถยนต์ที่ทรงตัวส่งผลให้ LLP ของธนาคารเล็กทรงตัว
เคจีไอฯ ระบุอีกว่าธนาคารจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/58 และครึ่งหลังของปีนี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โดย TMB และ KBANK ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการที่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม SME สูงถึง 37%/38% ตามลำดับ ในขณะที่ SCB, KTB และ TISCO ถูกกดดันจากกรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI) ส่วน BBL ก็คาดว่าจะใช้ความระมัดระวังและตั้งสำรองเพิ่มด้วย จากกระแสข่าวลบที่ถาโถมเข้ามากดดันให้หุ้นธนาคารซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ย PBV ระยะยาว ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสสำหรับการเข้าช้อนซื้อหุ้นถูก