SCBS มอง SET Index Q3/58 ผันผวนกรอบ 1,600-1,650 ก่อนพุ่งถึงเป้า 1,800 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 8, 2015 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) มองแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/58 ว่าน่าจะมีความผันผวน มองกรอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์(SET Index)น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,650 จุด โดยมีแนวรับที่ 1,460-1,464 จุด เนื่องจากได้รับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ทั้งกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค.58 และมีโอกาสสูงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้ ประเมินว่าน่าจะเป็นการปรับขึ้นอย่างช้าๆ แต่น่าจะส่งผลทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เข้าสู่สหรัฐฯ

อีกทั้งวิกฤตหนี้ในกรีซไม่น่าจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ แต่น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นบ้างของการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ และสถานการณ์โรคไวรัสเมอร์ยังคงสร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ในด้านเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่ำ ซึ่งปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)น่าจะอยู่ที่ 3% ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัว คาดว่าทั้งปีจะติดลบ 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และการนำเข้าปรับตัวลงแรงกว่า อาจลบสูงถึง 5% ส่งผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงต่อเนื่องถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับที่เกินดุลถึง 1.31 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีก่อนา

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน พบว่าความต้องการสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ เป็นต้น ยังคงเป็นบวก แม้แนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนภาวะสินเชื่อโดยรวมค่อนข้างตึงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อาจสูงขึ้น เพราะความสามารถในการชำระเงินองลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงที่ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคของประเทศ

นายอิสระ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม SCBS ยังคงมองเป้าหมาย SET Index ปี 58 จะไปถึง 1,800 จุดได้ เพราะความกังวลต่างๆ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด, วิกฤตหนี้กรีซ จะค่อยๆ ลดลง และในไตรมาส 4/58 น่าจะเห็นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังหากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เชื่อว่าภาคการส่งออกรายเดือนน่าจะติดลบลดลง การบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยประชาชนน่าจะดีขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่น่าจะสูงขึ้นมาที่ 73-75% ได้

พร้อมทั้งประเมินค่าเงินบาทช่วงต่อจากนี้จะเคลื่อนไหวที่ราว 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวอ่อนค่าลงตามทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก

ทั้งนี้ SCBS คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 58 คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 27% จากฐานที่ต่ำในปี 57 และราคาน้ำมันฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลุ่มที่จะมีการรายงานกำไรเติบโตสูงที่สุด คือ ประกัน ขนส่ง ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว พลังงาน และอาหาร ขณะที่กลุ่มสื่อ อาจมีกำไรหดตัวลง สาเหตุจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นทำธุรกิจดิจิทัลทีวี ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในระดับทรงตัว

นายอิสระ แนะนำว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากปัจจัยพื้นที่ฐานของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3/58 เป็นต้นไป ได้แก่ หุ้น ADVANC ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ คาดผลตอบแทนจากเงินปันผล 5.8% และกำไรสามารถเติบโตได้ถึง 10% แม้ไม่มีบริการ 4G

AEONTS ถูกที่สุดในกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่ออุปโภค บริโภค ด้วย PER 8.7 เท่า และ EPS โต 12% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น การตั้งสำรองน้อยลง ต้นทุนทางการเงินลดลง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เติบโตในอัตราชะลอตัวลง

CPALL ประเมิน EPS เติบโตสูง 33% ในปีนี้ และมี upside จากการขายหุ้นบางส่วนใน MAKRO

GLOBAL หุ้น laggard ที่กำไรฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/58 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้นการขยายสาขา และอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น

KBANK หุ้น laggard ซื้อขายที่ระดับ PBV เฉลี่ยในอดีต -1SD และราคาหุ้นที่ลดลง 15% สะท้อนถึงความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับ NPL และ NIM

และ TRUE บริการโทรศัพท์ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ กำไรจะฟื้นตัวในปี 58 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 59 เนื่องจากบริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม

นายอิสระ กล่าวว่า จากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีน ที่คาดการณ์กันว่าจะมาจากภาวะฟองสบู่ มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีนน่าเป็นผลทางจิตวิทยา เมื่อตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นแรง ก็ต้องมีการปรับตัวลดลงมาบ้าง แต่เชื่อว่าทางตลาดหุ้นจีนจะมีมาตรการออกมาควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันกองทุน หรือโบรกเกอร์ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน น่าจะมีการขายทำกำไรออกมาบ้างแล้ว จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ