AMATA ศึกษาตั้งนิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตตะวันตกเชื่อมถึงพม่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2015 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล โดยเบื้องต้นมองว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ เนื่องจากมีชายแดนที่เชื่อมต่อถึงเมียนมาร์ ขณะที่คาดรายได้จากการขายที่ดินในปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อนหลังการขายส่วนใหญ่อยู่ในนิคมฯอมตะซิตี้ ซึ่งมีราคาถูกกว่านิคมฯอมตะนคร แต่ก็มีมาร์จิ้นที่สูงทำให้เชื่อว่าจะช่วยหนุนกำไรให้เติบโตได้
"ปัจจุบันเรามีที่ดินในมืออีกราว 13,000-14,000 ไร่ เป็นที่ดินในอมตะซิตี้ 4,000-5,000 ไร่ อมตะนคร 8,000-,9000 ไร่ เพียงพอในการพัฒนาเพื่อขายให้กับลูกค้าอีกอย่างน้อย 3-5 ปี แต่เราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เราก็ยังมองหาการขยายกิจการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันเราได้ศึกษาการทำนิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเราต้องมองพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการเข้าไปลงทุนด้วย"นายวิบูลย์ กล่าว

นายวิบูลย์ คาดว่ารายได้จากการขายที่ดินปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อนที่ทำได้ 5,348 ล้านบาท ขณะที่ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินปีนี้จะทรงตัวที่ราว 1,000 ไร่ เนื่องจากสัดส่วนการขายที่ดินจะมาจากนิคมฯอมตะซิตี้มากกว่า 60% มีราคาขายอยู่ที่กว่า 3 ล้านบาท/ไร่ เมื่อเทียบกับราคาขายที่ดินนิคมฯอมตะนคร ที่มีราคาอยู่ที่กว่า 7 ล้านบาท/ไร่ แต่ในส่วนของกำไรจากการขายที่ดินเชื่อว่าจะทำได้สูงกว่าปีก่อน เพราะการขายที่ดินในนิคมฯอมตะซิตี้ มีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 50%

"ปีนี้รายได้จากการขายที่ดินของเราอาจจะต่ำกว่าปีก่อน เพราะในเป้าหมายการขายที่ดิน 1,000 ไร่นั้น มีส่วนของอมตะซิตี้กว่า 60% ซึ่งมีราคาขายที่ไม่สูงนัก แต่มาร์จิ้นของอมตะซิตี้สูงกว่า ทำให้กำไรสุทธิปีนี้มากกว่าปีก่อนแน่นอน นอกจากนี้เราก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าหากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน และสงบลง ยอดขายที่ดินในนิคมฯของเราก็จะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง เพราะประเทศไทยยังถือว่าเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีความได้เปรียบด้านที่ตั้ง ใครที่จะเข้ามาลงทุนใน AEC ก็ต้องมองเราก่อนอยู่แล้ว"นายวิบูลย์ กล่าว

สำหรับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวนั้น นายวิบูลย์ กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าภาครัฐของจีนมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จจะสามารถดูแลสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่นักลงทุนจากจีนเริ่มเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ