(เพิ่มเติม) AAV เดินหน้าเปิด 4 จุดบินใหม่ในจีน มั่นใจปัญหาตลาดหุ้นไม่กระทบลูกค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2015 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) เดินหน้าเปิดจุดบินใหม่ในจีน โดยมั่นใจว่าปัญหาตลาดหุ้นจีนที่ร่วงแรงและอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนนั้นไม่น่าจะกระทบกับผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ทั้งนี้ ผู้โดยสารชาวจีนมีสัดส่วนราว 20% จากเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารทั้งปีนี้ที่ 14.5 ล้านคน และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(load factor) ที่ 83% ซึ่งเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังยังจะเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ AAV เปิดเผยว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากผลฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นในจีน เพราะผู้โดยสารจีนที่เป็นลูกค้าหลักของสายการบินไทยแอร์เอเชียมีประมาณ 1.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยจำนวน 3 ล้านคนถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับประชากรจีนซึ่งมีถึง 1,000 ล้านคนและเป็นคนจีนที่อยู่อาศัยเมืองรองที่สายการบินไทยแอร์เอเชียมีจุดบิน ได้แก่ เมืองฉงชิ่ง อู่ฮั่น ซางฉา ซีอาน เซิ้นเจิ้น คุนหมิง เป็นต้น โดยรวมสายการบินไทยแอร์เอเชียทำการบินไปจุดบินที่จีนรวมทั้งหมด จำนวน 360 เที่ยวบิน/วัน

"ณ วันนี้ไม่มีผลกระทบ จุดบินที่จีนเรามีเที่ยวบิน 2 เที่ยวบิน/วัน ในแต่ละจุดบิน ...เมืองที่เราบินไปเป็นเมืองรอง ไม่ได้เป็นเมืองที่มีการเล่นหุ้น ส่วนใหญ่คนก็มีอาชีพค้าขาย"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าว

ขณะเดียวกัน สายการบินไทยแอร์เอเชียจะเปิดจุดบินใหม่ไปจีน 4 จุดในไตรมาส 4 ปีนี้ โดย 2 จุดบินจะบินจากอู่ตะเภา และอีก 2 จุดบินจะบินจากดอนเมือง

นายธรรศพลฐ์ คาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากนักท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัว ทั้งปี 58 ยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสาร 14.5 ล้านคน โดยมีสัดส่วนผู้โดยสารชาวจีน 20% และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร ที่ 83% และมั่นใจว่ากำไรในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 183.18 ล้านบาท

ในวันนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย จับมือกับ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด(BAC) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial Pilot License) โดยไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าผลิตนักบินประมาณ 70 คนต่อปี เพื่อให้มีความพร้อมเพียงพอต่อการขยายธุรกิจสายการบินที่จะรับเครื่องบินแอร์บัส A320 ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 15 ลำ เป็น 60 ลำ ภายในปี 61 หรือรับมอบปีละ 5 ลำ โดยปี 58 ได้รับมอบไปแล้ว 3 ลำ และปลายปีนี้รับมอบอีก 2 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีฝูงบิน 48 ลำ

ปัจจุบัน นักบินไทยแอร์เอเชียที่สำเร็จการศึกษาจาก BAC แล้วรวม 7 รุ่น จำนวน 181 คน คิดเป็นสัดส่วน 40% ของนักบินไทยแอร์เอเชียที่มีนักบิน 450 คน แบ่งเป็น กัปตัน 206 คน และนักบินผู้ช่วย 244 คน

"หลังจากการเซ็นความร่วมมือในว้นนี้ เราก็ตั้งเป้าส่งนักบินเข้าฝึกหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีของ BAC ประมาณปีละ 70-80 คน โดยเป็นทุนแอร์เอเชีย ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของเราที่จะรับเครื่องบินใหม่ประจำการฝูงบินเฉลี่ย 5 ลำต่อปี โดย 1 ลำจะใช้นักบิน 50 คน"นายธรรศพลฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ BAC ได้ส่งนักบินที่จบการศึกษาให้กับสายการบินไทยแอร์เอเชียมาตลอดตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา โดยแรกๆมีจำนวนนักบิน 30 - 40 คนต่อปี

ด้านกัปตันปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้าจำนวนนักบินมีแนวโน้มขาดแคลน เนื่องจากแอร์บัสและโบอิ้งจะมีการผลิตเครื่องบินใหม่ จำนวนกว่า 2 หมื่นลำ จะต้องมีนักบินจำนวน 4.5 แสนคนรองรับเครื่องบินใหม่ แต่ปัจจุบันทั่วโลกผลิตนักบินได้ปีละ 6 พันคน และอีก 15 ปีข้างหน้าคาดจะผลิตได้ปีละ 9 หมื่นคน ขณะที่ความต้องการนักบินมีมากขึ้น

BAC ตั้งเป้าปี 58 จะผลิตนักบินได้ 180 คน จากปี 57 ผลิตได้ 160 คน โดยป้อนนักบินให้ไทยแอร์เอเชียเป็นหลัก นอกจากนีก็ป้อนให้กับการบินไทยปีละ 20-40 คน ทั้งนี้จากการขยายกำลังการผลิตนักบินทั้งสนามบินและรันเวย์ส่วนตัว บุคคลาการหรือครูฝึกบิน และเครื่องบิน คาดว่าจะจากนี้ไปจะสามารถผลิตนักบินได้ปีละ 300-400 คน โดยมีแผนขยายเข้าสู่ธุรกิจการบินของกลุ่มประเทศอาเซียน และจีน ซึ่งปีนี้มีนักบินจากจีนเข้ามาศึกษา 20-30 คน นอกจากนี้ได้ร่วมกับกรมการบินพลเรือนของเมียนมาร์กับการฝึกอบรมนักบินด้วย

ปัจจุบัน BAC มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 90% ของตลาด Pilot Training โดย BAC วางเป้าหมายในการเป็นสถาบันในการผลิตนักบินไทยสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบันมีนักบินไทยอยู่ในส่วนแบ่งตลาดนักบินทั่วโลกเพียง 10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ