ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-แนวโน้ม บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ที่ A-/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2015 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ให้แก่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย DBS Vickers Securities Holdings Pte., Ltd. (DBSVSH) สมาชิกรายหนึ่งในกลุ่มธนาคารดีบีเอสในประเทศสิงคโปร์

อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและอื่น ๆ แก่บริษัท

ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจกับลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันจากการลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่มีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอสเอาไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเอาไว้ได้ในระยะปานกลางท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่รุนแรงและแรงกดดันจากแนวโน้มที่ลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากบริษัทไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันอาจเป็นสาเหตุให้บริษัทมีผลประกอบการต่ำกว่าคาด ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเรียกคืนส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้กลับมาได้ รวมทั้งสามารถปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ดีขึ้น

DBSV เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% โดย DBSVSH บริษัทเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มดีบีเอสในประเทศไทยโดยดำเนินธุรกิจการทำวิจัย นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจอื่น ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าในเครือข่ายของกลุ่มดีบีเอส ขอบข่ายของธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีบริษัทแม่คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยรวมของกลุ่ม

มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำปีจากลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของนักลงทุนต่างประเทศยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศส่วนมากส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ Direct Market Access (DMA) ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่น้อยกว่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด การแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นสาเหตุให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของนักลงทุนรายย่อยของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 2.3% ในปี 2557 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 จาก 2.8% ในปี 2556

รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 76% ของรายได้รวมในปี 2557 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในสัดส่วนประมาณ 68% โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 5% ของรายได้รวมในปี 2557 บริษัทพยายามเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งทางการเงินโดยการเพิ่มรายได้การจัดการกองทุนส่วนบุคคลและเป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายกองทุน ทั้งนี้ การลดการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะส่งผลต่อการปรับตัวของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น ในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงทวีความรุนแรงและอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีความเสี่ยงด้านการตลาดไม่มากนักเนื่องจากบริษัทไม่มีนโยบายในการเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และบริษัทมีนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงจากการออกขายหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structure Notes) ในส่วนของความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างของบริษัทมีมูลค่า 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยยอดสินเชื่อดังกล่าวคิดเป็น 159% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของทั้งอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้ได้ต่อไปโดยใช้เกณฑ์การเรียกหลักประกันเพิ่มและการบังคับขายที่เคร่งครัด รวมทั้งคงนโยบายการกำหนดเกณฑ์ของหลักประกันและการอนุมัติวงเงินที่เข้มงวด

ผลประกอบการของบริษัทขาดทุน 3 ล้านบาทในปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิที่จำนวน 108 ล้านบาทในปี 2556 เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ โครงสร้างค่าใช้จ่ายของบริษัทก็มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายคงที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงซึ่งเป็นสาเหตุให้กำไรของบริษัทลดลงอย่างมากเมื่อรายได้ปรับตัวลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทคิดเป็น 73%-78% ของรายได้สุทธิในระหว่างปี 2554-2556 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 93% ของรายได้สุทธิในปี 2557 ในขณะที่รายได้สุทธิปรับตัวลง 20% ในทางตรงกันข้าม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 54%-61% ต่อปีในระหว่างปี 2554-2557

บริษัทได้รับวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายในประเทศ ทำให้บริษัทยังคงมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับวงเงินกู้ยืมจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและความยืดหยุ่นด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีจำนวน 1.07 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2557 โครงสร้างเงินทุนซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวลดลงเล็กน้อยในปี 2557 แต่ยังคงเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทก็อยู่ที่ระดับ 64% ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ค่อนข้างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ