บลจ.กสิกรฯ ปันผลกอง K-JP 0.25 บ./หน่วย มอง ศก.ญี่ปุ่นฟื้นหนุนตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2015 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนาวิน อินทรสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายปันผลกองทุนเปิดเค ญี่ปุ่น หุ้นทุน (K-JP) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่19 ธันวาคม 2557 - 30 มิถุนายน 2558 โดยกองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้นกว่า 179 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน K-JP นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อเดือนธันวาคมปี 2557 ที่ผ่านมา สามารถให้ผลตอบแทนที่ 14.97% และสามารถจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีบัญชี โดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในรอบผลดำเนินงานที่ 2.26% ทั้งนี้กองทุน K-JP มีนโยบายลงทุนผ่านกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund Japanese Equity, Class A Acc ซึ่งบริหารจัดการโดย Schroder Investment Management (Luxembourg) S.A. บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำระดับโลก

กองทุนหลักถือเป็นหนึ่งในกองทุนหุ้นญี่ปุ่นชั้นนำขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่นที่มีผลประกอบการดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีความยั่งยืนในการเติบโตของธุรกิจ โดยไม่จำกัดหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมหรือขนาดของบริษัท ทั้งนี้กองทุน K-JP เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับค่อนข้างสูง และเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งมุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับกองทุนหลักให้มากที่สุด

นายนาวิน กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาสแรกขยายตัวได้ 1.0% สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าและถือเป็นตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ดีที่สุดในรอบ 2 ปี ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ อัตราการใช้จ่ายภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 7.40% แสดงถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ของ GDP ก็ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน สอดคล้องกับรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในเดือนมิถุนายน และปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีกปรับตัวสูงสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ว่าได้ฟื้นตัวจากภาวะซบเซาหลังการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2557

ทั้งนี้ ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าหุ้นญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีในระยาว โดยจะได้รับปัจจัยหนุนหลายด้าน อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงพนักงานเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบหลายปีของบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การเพิ่มสัดส่วนการเข้าซื้อหุ้นที่ระดับประมาณไม่เกิน 25% ของกองทุนบำนาญญี่ปุ่น (GPIF) ซึ่งถือเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้เช่นเดิม โดยเฉพาะวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์จำนวน 80 ล้านล้านเยนต่อปี ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี – วันที่ 29 มิ.ย.2558 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีการปรับตัวขึ้นสูงกว่า 15% และทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งหากพิจารณาอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของดัชนี TOPIX พบว่าปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 15.84 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ระดับประมาณ 19.99 เท่า (ที่มา: Bloomberg 30 มิ.ย. 58) ดังนั้นอัตราผลกำไรของหุ้นญี่ปุ่นจึงยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่นักลงทุนควรจะต้องติดตาม คือกรณีวิกฤติทางการเงินในประเทศกรีซ รวมถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นจีนจากแรงเทขายของนักลงทุนรายย่อยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยามายังตลาดหุ้นในญี่ปุ่นทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้นด้วย นักลงทุนที่ต้องการทำกำไรระยะสั้นจึงอาจชะลอการลงทุนในช่วงนี้ ส่วนนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว อาจใช้ความระมัดระวังในช่วงที่ตลาดมีการปรับฐานโดยสามารถทยอยเข้าลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นได้ เนื่องจากยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของหุ้นญี่ปุ่นในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ