แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในงานโยธาจากโครงการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ต่อไป โดยที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% หรืออัตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 1.5 เท่าในช่วงปี 2558-2560 อัตราส่วนกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 8%-9%
อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินงานของบริษัทมีผลขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากอัตราส่วนกำไรของบริษัทลดลงต่ำกว่า 7% หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมต่ำกว่า 10% ก็จะมีผลให้อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตลดลง นอกจากนั้น หากการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มเกินกว่า 60% ก็จะมีผลกระทบให้อันดับเครดิตปรับลดลง การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากบริษัทเริ่มขยายการลงทุนไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง ซึ่งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นปัจจัยบวกแก่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท
บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการก่อตั้งในปี 2519 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2538 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ เดือนมกราคม 2558 คือนายพลพัฒ กรรณสูต ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 10% บริษัทเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่รับงานโยธาได้หลากหลาย เช่น งานอาคาร งานถนน ทางด่วน สะพาน งานท่าเรือ งานระบบชลประทาน งานอุโมงค์ และงานท่อ เป็นต้น
บริษัทมีสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับปานกลางซึ่งสะท้อนจากผลงานที่ผ่านมาและงานที่แล้วเสร็จ โดยในช่วงปี 2552-2557 บริษัทรับรู้รายได้จากโครงการรับเหมาก่อสร้างจากภาคเอกชนและภาครัฐในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ รายได้เฉลี่ยของบริษัทในช่วงปี 2552-2554 อยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ในปี 2555-2557 รายได้เฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านบาทต่อปี
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่า 12,325 ล้านบาท โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการขุดและขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะซึ่งมีมูลค่า 3,572 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการบำบัดน้ำเสียมูลค่า 2,085 ล้านบาท และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อมูลค่า 1,464 ล้านบาท โดยงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่าสูงสุด 3 ลำดับแรกมีมูลค่าโครงการรวม 7,121 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58% ของมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบประมาณ 38% ในปี 2558 34% ในปี 2559 และอีก 17% ในปี 2560
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนรวมไปถึงผลงานที่มีจำนวนน้อยในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ในปี 2549 บริษัทลงทุน 40% ร่วมกับ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม "ดิ อิสสระ ลาดพร้าว" มูลค่า 1,867 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม "อิซซี่ สุขสวัสดิ์" มูลค่า 2,000 ล้านบาทในปี 2556 นอกจากนี้ ในปี 2550 บริษัทยังได้ลงทุนในสัดส่วน 25% ร่วมกับ บริษัท วีเอสพีเอ็น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว "ซีบรีส วิลล่า พัทยา" มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท และในปี 2555 บริษัทยังได้พัฒนาและก่อสร้างโครงการบ้านเดี่ยวของบริษัทภายใต้ชื่อ "บารานี" ด้วย ส่วนในปี 2558 บริษัทมีแผนจะเปิดโครงการแนวราบ 2 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมอีก 1 โครงการ รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2,300 ล้านบาท
สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในไตรมาสแรกปี 2558 อยู่ที่ 5.3% ลดลงจาก 7.7% ในปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 42.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เพิ่มขึ้นจาก 41.4% ในปี 2557 ในช่วงปี 2558-2560 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะมาจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 600 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ โอกาสที่รายได้ของบริษัทจะต่ำกว่าประมาณการน่าจะอยู่ในระดับปานกลางจากการที่บริษัทมีมูลค่างานในมือที่จะรับรู้เป็นรายได้เกือบ 50% ของประมาณการรายได้พื้นฐานของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากประมาณ 6%-8% มาอยู่ในระดับที่มากกว่า 8% เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าเดิมจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 45%-55% ในช่วงปี 2558-2560 ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600-800 ล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะสูงกว่า 15% ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 4 เท่า