บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเป็น 130 ล้านบาท โดยมีแผนนำเงินที่ระดมทุนได้ไปชำระหนี้ที่มีกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตมอเตอร์ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและยื่นขอมาตรฐานสินค้าต่างประเทศเพื่อขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จากปัจจุบันตลาดส่งออกหลัก คือ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
"เข้าตลาดหุ้นช่วงนี้ไม่กังวลภาวะตลาดซบเซา เพราะบริษัทมียอดขายไม่ถึง 500 ล้านบาท การจะทำให้ยอดขายขึ้นไป double ไม่ใช่เรื่องยากเพราะบริษัทมีแผนจะโตอยู่แล้ว ปีนี้ก็ได้ลูกค้าญี่ปุ่นสั่งออร์เดอร์เพิ่ม ส่วนวัตถุดิบทั้งทองแดง อลูมิเนียม เหล็กถ้าราคาปรับขึ้นก็สามารถเจรจากับลูกค้าได้ ซึ่งจะไม่กระทบกับผลประกอบการของบริษัท"นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้จะตามค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ที่เติบโตปีละ 12-15% จากปี 57 ที่มีรายได้ 489 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท โดยในปีที่แล้วมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 15-18% และ อัตรากำไรสุทธิ 5-8%
ณ สิ้นไตรมาส 1/58 บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) อยู่ที่ 2.01 เท่า และหลังจากนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปชำระหนี้แล้วจะช่วยลด D/E ลงเหลือ 0.6 เท่า ปัจจุบัน บริษัทมีหนี้กับสถาบันการเงินกว่า 200 ล้านบาท
ในเดือน ส.ค.นี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตมอเตอร์เพิ่มเป็น 7.6 หมื่นลูก/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ 6 หมื่นลูก/เดือน และกำลังการผลิตเต็มกำลังจะอยู่ที่ 8 หมื่นลูก/เดือน ซึ่งเป็นการขยายเพื่อรองรับออร์เดอร์ใหม่จากลูกค้าญี่ปุ่นที่สั่งซื้อมอเตอร์เพิ่มเข้ามาอีก 2 รุ่น คิดเป็นมูลค่าราวปีละ 100 ล้านบาท
ขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนยื่นขอมาตรฐาน UL ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะได้รับมาตรฐานดังกล่าวในช่วงปลายไตรมาส 1/59 ถึงต้นไตรมาส 2/59 จากนั้นก็จะสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯได้ทันที ซึ่งเบื้องต้นกำลังการผลิตใหม่ที่ 8 หมื่นลูก /เดือนเพียงพอรองรับการขยายตลาดได้ แต่หากในอนาคตได้ออร์เดอร์เข้ามามากขึ้นก็อาจจะต้องขยายกำลังผลิตเพิ่มเติม
"เรามองอเมริกาเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยตลาดเครื่องปรับอากาศในอเมริกาอยู่ที่ 4.5 ล้านเครื่อง/ปี ต้องใช้มอเตอร์อย่างน้อย 2-3 ลูกต่อเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง เพราะฉะนั้นต้องใช้มอเตอร์ 10 ล้านลูก/ปี ถ้าเราได้มาร์เก็ตแชร์ตรงนี้มาราว 5% ก็ถือว่ามากแล้ว เทียบกับตลาดในประเทศที่ตลาดเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 1.8 ล้านเครื่อง/ปี "นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ PIMO มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจากปัจจุบันอยู่ที่ 25% เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ราว 30-35% สูงกว่าขายในประเทศ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของบริษัทที่ 15-18% ประกอบกับ บริษัทมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังน่าจะแย่ในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเฉพาะในส่วนของมอเตอร์กำลังจะได้รับผลกระทบมาก เพราะใช้สำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งปีนี้เกษตรกรรายได้ลดลง
"ปีนี้ยอดขายมอเตอร์กำลังแย่แน่นอน แต่จะโตได้ด้วยมอเตอร์ปั้มน้ำบ้าน มอเตอร์ที่ใช้ในสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะของเรา โดยเฉพาะที่ออสเตรเลียมีลูกค้ารายใหญ่ 4 รายที่สั่งซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งมอเตอร์ที่ขายดีที่สุดคือมอเตอร์เครื่องปรับอากาศ รองลงมามอเตอร์ปั้มน้ำ เครื่องสูบน้ำ แย่สุด คือ มอเตอร์กำลัง แต่ในอนาคตจะส่งออกมากขึ้น หลังจากเปิดตลาดอเมริกาได้ ต่อไปมองยุโรป ซาอุฯ และอื่นๆ จากที่ส่งออกไปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น"นายวสันต์ กล่าว
ปัจจุบัน สัดส่วนยอดขายมาจากการผลิตและจำหน่ายมอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ 45% มอเตอร์เครื่องสูบน้ำ มอเตอร์สระว่ายน้ำ ปั้มบ้าน 40%และมอเตอร์กำลัง 15%