ปัญหาดังกล่าวสะท้อนไปถึงภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย รวมถึง KBANK ที่การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี ทำให้ลูกค้าเลื่อนแผนการใช้เงินออกไป ประกอบกับ ปัจจุบันธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยเพื่อเน้นคุณภาพของสินเชื่อ จึงมีผลต่อการชะลอตัวของสินเชื่อด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมปีนี้ยังเติบโตตามเป้าหมายที่ 6%
นายบัณฑูร กล่าวว่า การตั้งสำรองของธนาคารยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเช่นกันหลังจากไตรมาส 2/58 ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี และในครึ่งปีหลังการตั้งสำรองก็จะยังคงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน หากเศรษฐกิจยังไม่ดีอยู่การตั้งสำรองก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อกำไรของธนาคารลดลง
"สินเชื่อเราก็ยังต้องปล่อยอยู่ ให้เศรษฐกิจมีเงินออกไปหมุนให้ไปต่อได้ แต่มันก็ปล่อยได้ไม่มาก เพราะว่าลูกค้าไม่รู้เอาเงินไปใช้ทำอะไร เพราะเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ กำลังซื้อก็ยังน้อย ยิ่งเจอปัญหาภัยแล้งอีกรากหญ้าก็แย่หนัก อีกทั้งแบงก์ยังตั้งสำรองเพิ่มสูงอีก ซึ่งมันก็สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และก็กระทบกำไรแบงก์ลดลง หุ้นก็ตกอีก ซึ่งทุกอย่างมันก็สะท้อนตามความเป็นจริง ตอนนี้อยากให้ภาครัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าการปฏิรูปการปกครอง"นายบัณฑูร กล่าว