GPSC มั่นใจรายได้ปีนี้ตามเป้า หลังโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 21, 2015 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทเชื่อมั่นการดำเนินการตามแผน เตรียมรับรู้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ หรือ IRPC-CP ซึ่งถือหุ้นโดย GPSC ในสัดส่วน 51% พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆ ในอนาคต ทั้งโครงการผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 (Central Utility Plant 4 : CUP-4) และโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางให้แก่บมจ.ปตท. (PTT) ภายในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กลุ่ม ปตท. (WEcoZi) ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง, โครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ร่วมกับจังหวัดระยอง และอบจ.ระยอง ฯลฯ

โรงไฟฟ้า IRPC-CP ซึ่งถือหุ้นโดย GPSC ในสัดส่วน 51% เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer หรือ SPP) มีกำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 180-300 ตันต่อชั่วโมง ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในระยะแรกนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำสูงสุด 100 ตันต่อชั่วโมงให้กับ IRPC ได้ภายในปี 58 นอกจากจะทำให้การดำเนินงานของ GPSC มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้รายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นตามเป้า ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน ปี 60

นอกจากนี้ GPSC ในฐานะเป็นบริษัทแกนนำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. ตามแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่จะเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่มปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท. ได้เดินหน้าพัฒนาโครงการอื่นๆ ร่วมกับกลุ่มปตท. อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากโครงการผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 (CUP-4) แล้ว GPSC ยังได้พัฒนาโครงการเพิ่มอีกหนึ่งโครงการภายในพื้นที่ดังกล่าว ในการผลิตไอน้ำความดันต่ำสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรมโดยใช้กะลาปาล์มซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเป็นเชื้อเพลิง โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการจัดหา จัดเก็บ และจัดส่งกะลาปาล์มกับ ปตท. ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาและคาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 60

สำหรับโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ซึ่ง GPSC ร่วมกับจังหวัดระยอง และอบจ.ระยอง เพื่อนำขยะไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันการดำเนินงานยังคงเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้

นายนพดล เชื่อว่าก่อนปี 62 สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ จะมีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 60% พลังงานแสงอาทิตย์และไบโอแมส 12% ถ่านหิน 12% และรายได้จากการจำหน่ายไอน้ำ 12% ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินรายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น พลังงานลม และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ