ผถห.รายย่อย PAE ยื่น DSI-ก.ล.ต.สอบผู้บริหารอดีต-ปัจจุบันพร้อมพวกส่อทุจริต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 22, 2015 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรชัช ทองเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องประโยชน์ผู้ถือหุ้นรายย่อย และตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย บมจ.พีเออี(ประเทศไทย)(PAE)เปิดเผยว่า ในวันนี้เครือข่ายฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บริหารและกรรมการบริษัททั้งชุดปัจจุบันและในอดีต รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเห็นว่าส่อทุจริตและสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย

หนังสือดังกล่าว ระบุว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น PAE ปรับตัวลดลงจากราคากว่า 3 บาท ลงสู่ 0.30 บาท และมีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติและมีนัยสำคัญ อีกทั้งคณะกรรมการของบริษัทฯ และ ผู้บริหารทั้งชุดปัจจุบันและในอดีตมีความเกี่ยวพันตั้งแต่ปี 55 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการทำธุรกรรมและลงมติที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องในกลุ่มตนเองอย่างเฉพาะเจาะจง

"เป็นพฤติการณ์ที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารจัดการ และส่อว่าได้กระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเข้าข่ายเป็นคดีอาญา ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากกว่า 12,000 รายจากการที่เข้าไปร่วมลงทุน"เครือข่าย ระบุ

ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่าง PAE และนางอุไรรัตน์ บุญอากาศ ประธานกรรมการบริหาร นางสาวจินตนา กาวีวงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และนายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ หลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ PAE

พร้อมทั้งตรวจสอบกลุ่มผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง(PP)ราคาต่ำในปี 57 และความสัมพันธ์ถึง บมจ.แคปปิเติล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค(CEN) บมจ.ระยองไวร์ อินดัสตรี้(RWI) บมจ.เอื้อวิทยา(UWC) และ บมจ.อีเอ็มซี(EMC) ซึ่งมีนายชัยชนะ ลีนะบรรจง อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การติดต่อประสานงาน ขั้นตอนการอนุมัติ การคัดเลือกผู้ได้รับจัดสรรโดยละเอียด รวมถึงตรวจสอบเจ้าหน้าที่การตลาดต่างๆ ว่าผู้ได้รับจัดสรรเป็นเจ้าของบัญชีส่งคำสั่งซื้อขายเองจริงหรือไม่

นอกจากนั้น ขอให้ตรวจสอบขั้นตอนที่คณะกรรมการ PAE มีมติให้เข้าไปซื้อกิจการ บริษัท พีพีเอสเอนเนอยี่ แอนด์ มารีน จำกัด ซึ่งขาดทุนและเป็นการขายจาก CEN และการที่คณะกรรมการ PAE มีมติขายหุ้น บริษัท พีเออี เทคนิเคิลเซอร์วิส จำกัด ในวันที่ 10 ก.พ.57 ทั้งๆที่รู้ว่าบริษัทดังกล่าวกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือว่าเป็นการทำให้ PAE เสียประโยชน์โดยตรง

เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบสาเหตุและการทุจริตภายในองค์กรตั้งแต่ปี 54 จนถึงปัจจุบัน อันมีผลให้บริษัทขาดทุนต่อเนื่องเป็นจำนวนกว่า 1.6 พันล้านบาท แต่กลับปล่อยข่าวให้ประชาชนทั่วไป และนักลงทุนเข้าใจผิดว่าบริษัทจะมีกำไรและมีอนาคตที่ดี

ขณะที่เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้ส่งตัวแทนไปรับหนังสือดังกล่าวไว้ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากนี้ ก.ล.ต.ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ