ทั้งนี้ AOT ได้มีการประสานงานอย่างต่อเนื่องกับกรมการบินพลเรือน รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการดำเนินงานการบินธุรกิจกรุงเทพ (AOC) บมจ.การบินไทย(THAI) และบมจ.การบินกรุงเทพ(BA)เพื่อประกอบการเตรียมความพร้อมของ AOT ในการจัดทำแผนรองรับในกรณีที่อาจจะได้รับผลกระทบและการตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ AOT ได้มีหนังสือถึงกองทัพอากาศ กรมการบินพลเรือน และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อขอสำรองพื้นที่จอดเครื่องบิน ซึ่งได้คำตอบรับการเข้าใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อจอดเครื่องบินได้ 20 ลำแล้ว
ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป(EASA) จะมีการประชุมพิจารณาการตรวจกิจการบินของไทย ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ส่วนองค์บริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา(FAA) จะใช้ผลตรวจขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)ทำการตรวจกิจการการบินของไทย โดยให้เวลาในการแก้ไข 65 วัน นับตั้งแต่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา
ด้านนางปาริชาต คชรัตน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า กองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน ได้จัดทำแผนการตรวจสนามบินประจำปีของกรมการบินพลเรือน โดยจะทำการลงพื้นที่ตรวจสนามบินต่างๆในประเทศ ทั้งที่อยู่ในความดูแลของกรมการบินพลเรือน AOT และ BA เพื่อตรวจดูการดำเนินงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่
หากพบข้อบกพร่องจะแจ้งให้สนามบินทำการปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ การตรวจสอบจะเป็นไปตามแนวทางของโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (Universal Security Audit Programme; USAP)
อยางไรก็ตาม กรมการบินพลเรือนทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้ทราบผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดหรือไม่เท่านั้น ส่วนการบริหารจัดการและวิธีการแก้ไขข้อบกพร่อง เป็นการตัดสินใจของสนามบินว่าจะเลือกใช้วิธีใด