PTTEP คาดปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยปีนี้โต 3% จากเดิมคาด 3-6%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 23, 2015 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า แม้ว่าผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกโดยรวมจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่บริษัทยังคงมั่นใจในทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยในปีนี้จะเติบโตประมาณ 3%และเมื่อพิจารณาสถานะทางการเงินและเงินสดในมือ จึงเชื่อว่าเราสามารถรักษานโยบายการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ และยังดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถรักษาความต่อเนื่องด้านการจัดหาปิโตรเลียมรองรับการใช้ภายในประเทศ รวมถึงสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ PTTEP คาดว่าปริมาณขายเฉลี่ยจะเติบโตราว 3-6% ในปี 58 สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 58 มีกำไรสุทธิก่อนสอบทาน 299 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 9,928 ล้านบาท) ลดลง 641 ล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 940 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 30,621 ล้านบาท) ของช่วงเดียวกันในปี 57 สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่ลดลงจากราคาขายเฉลี่ยลดลง โดยอยู่ที่ 48.61 ดอลลาร์ สรอ. เทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 66.35 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ของงวด 6 เดือนปีที่แล้ว แม้ว่าปริมาณการขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 307,263 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มาอยู่ที่ 326,335 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ในช่วงไตรมาส 2/58 บริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวน อีกทั้งยังประสบกับภาวะค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำไรสุทธิลดลง โดยมีกำไรสุทธิก่อนสอบทาน 35 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,312 ล้านบาท) ลดลง 229 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 87% จากไตรมาส 1/58 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 264 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 8,616 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี ผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานหลัก (Non-Recurring) ประกอบด้วยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการบันทึกค่าใช้จ่ายทางภาษีรอการตัดบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง (Deferred Tax on Functional Currency) เป็นจำนวน 73 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจาก ปตท.สผ. ใช้สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ในการจัดทำบัญชี ในขณะที่บริษัทต้องใช้สกุลเงินบาทในการยื่นภาษี ซึ่งรายการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บริษัทได้รับรู้ขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) จำนวน 56 ล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วยการรับรู้ขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงของสัญญาฯที่ครบกำหนดในไตรมาส 2 จำนวน 19 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการรับรู้ขาดทุนจากการตีราคาตามราคาตลาด (Mark-to-Market) สำหรับสัญญาฯที่ยังไม่ครบกำหนด อีก 37 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการรับรู้ตามหลักการทางบัญชีเท่านั้น โดยการรับรู้มูลค่าจริงของสัญญาฯ ที่เหลืออยู่จะเกิดขึ้นตามราคาน้ำมัน ณ วันที่สัญญาดังกล่าวครบกำหนดในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 58

สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 2/58 อยู่ที่ 1,486 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 49,446 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1,497 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,870 ล้านบาท) ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จากปริมาณการขายที่ทรงตัวและราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเล็กน้อย สำหรับค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจอีกประมาณ 27 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดทุนจากรายการ Non-Recurring ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และต่างประเทศ รวม 40 โครงการ ใน 11 ประเทศ โดยความก้าวหน้าของโครงการหลัก ๆ สามารถสรุปได้ ดังนี้ โครงการในประเทศไทย ยังสามารถรักษาระดับการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และโครงการคอนแทร็ค 4

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น โครงการซอติก้า ในเดือน เม.ย.58 ได้มีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีตามแผน โครงการเวียดนาม16-1 อยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเพื่อรองรับการผลิตจากบริเวณโครงสร้าง H5 เพื่อรักษาระดับการผลิต โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตจากโครงสร้างดังกล่าวภายในไตรมาส 3/58

โครงการเมียนมาร์ พีเอสซี จี และอีพี 2 อยู่ระหว่างการเริ่มเจาะหลุมสำรวจหลุมที่ 4 จากแผนการเจาะหลุมสำรวจทั้งสิ้น 4 หลุม ผลการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ จึงตัดจำหน่าย (Write-off) หลุมดังกล่าวในไตรมาสที่ 2 โครงการในออสตราเลเชีย แหล่งมอนทารา ปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 2/58 อยู่ที่ประมาณ 16,448 บาร์เรลต่อวัน ส่วนแหล่งแคชเมเปิ้ลอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางสำหรับการพัฒนาแหล่ง

โครงการในทวีปอเมริกา ได้แก่ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ อยู่ระหว่างเตรียมงานเกี่ยวกับการออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น (FEED) ส่วนโครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 ในบราซิล กำลังเตรียมการเพื่อสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ, โครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 คาดว่าจะเริ่มการเจาะหลุมสำรวจ Pacoca ได้ในไตรมาส 4/58

โครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี อยู่ระหว่างการก่อสร้างกระบวนการผลิตและระบบท่อขนส่ง คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2558 ด้วยอัตราการผลิตประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน และโครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมประเมินผล Golfinho-Atum G03, Golfinho-Atum G04 , Golfinho-Atum G05 และ Golfinho-Atum G06

สำหรับการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทางโครงการได้คัดเลือกกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่จะรับงานก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก (Onshore LNG Engineering Procurement and Construction Contract) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ โครงการคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกได้ในปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ