อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนความต้องการที่แข็งแกร่งในธุรกิจเอทานอล และรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลบางส่วน
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและกระแสเงินสดที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแอต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
KSL หรือกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ณ เดือนเมษายน 2558 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 70.3% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทยโดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน
ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 8.8 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2557/2558 และผลิตน้ำตาลได้ 914,458 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.3% ในปีการผลิต 2557/2558 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.5% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 14.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.2%
ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล ในช่วงปีการเงิน 2556-2557 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 18% ของรายได้รวมของบริษัท
นอกเหนือจากธุรกิจผลิตน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการเงิน 2553 เงินลงทุนในประเทศลาวและกัมพูชาโดยประมาณเท่ากับ 5,200 ล้านบาท ปัจจุบันผลผลิตน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ ผลผลิตอ้อยในประเทศลาวดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตอ้อยในประเทศกัมพูชายังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2557/2558 จึงมีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย
นอกจากนี้ การดำเนินงานของบริษัทในประเทศลาวและกัมพูชายังลดลงในปีการเงิน 2558 จากการปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำตาล บริษัทในประเทศลาวและกัมพูชาจึงยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนโดยขาดทุนจำนวน 175 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2558
จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลงทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2557 อยู่ในระดับปานกลาง บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% เป็น 19,185 ล้านบาทในปีการเงิน 2557 จาก 18,941 ล้านบาทในปีการเงิน 2556 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 21% ในปีการเงิน 2556 มาอยู่ที่ระดับ 24.7% ในปีการเงิน 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลทรายดิบจะลดลง 6% ในปีการเงิน 2557 แต่ต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้นและการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้น
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่ดียังมาจากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจพลังงานที่แข็งแกร่ง โดยในปีการเงิน 2557 การเติบโตของความต้องการใช้เอทานอลในประเทศส่งผลทำให้ราคาขายอ้างอิงของเอทานอลเพิ่มขึ้น 7.1% มาอยู่ที่ระดับ 27.22 บาทต่อลิตรในปีการเงิน 2557 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ายังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 26% และ 48% ตามลำดับ ในปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,816 ล้านบาท จาก 3,382 ล้านบาทในปี 2556 ตามอัตรากำไรที่ดีขึ้น
สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558 นั้น รายได้ของบริษัทเติบโต 6% เป็น 7,906 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีการเงิน 2557 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้น13% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558 ลดลงเพียงเล็กน้อยเป็น 2,204 ล้านบาท จาก 2,243 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีการเงิน 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลที่ส่งออกของบริษัทจะลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดขายน้ำตาลในประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและกำไรที่แข็งแกร่งของธุรกิจพลังงานช่วยรักษากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558
อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงโดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 59.8% ณ สิ้นปีการเงิน 2557 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 4.7 เท่าในปีการเงิน 2557 ลดลงจาก 5.4-8.4 เท่าในปีการเงิน 2554-2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 13.4% ในปีการเงิน 2557 เมื่อเทียบกับระดับ 13.6%-25%ในปีการเงิน 2554-2557 ในอนาคต เงินลงทุนของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2558-2559 จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี จาก 3,000-6,000 ล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2556-2557 เนื่องจากบริษัทไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่
เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัทที่ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปีและแผนการลงทุนของบริษัทแล้ว คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ กระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำในปีการเงิน 2558 ตามวัฏจักรราคาน้ำตาลตกต่ำ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลและการลดลงของระดับหนี้