(เพิ่มเติม) ตลท.ลดเป้าวอลุ่มเฉลี่ยปีนี้ราว 4.7 หมื่นลบ./วัน แต่มูลค่าระดมทุนพุ่งแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 23, 2015 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ยอมรับว่า ต้องปรับเป้าหมายมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ลง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ 4.7 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่คาดไว้เมื่อต้นปีสูงถึง 5.2 หมื่นล้านบาท/วัน เนื่องจากมีปัจจัยลบข้ามากระทบการลงทุน

แต่ในแง่ของมูลค่าระดมทุนกลับพุ่งทะลุเกินคาด โดยครึ่งปีแรกมีมูลค่าระดมทุนแล้ว 1.35 แสนล้านบาท สูงกว่าจากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในช่วงต่อจากนี้จนถึงสิ้นปียังมีบริษัทที่รอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) อีก 24 ราย จากช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเข้ามาจดทะเบียนแล้ว 17 ราย

ทั้งนี้ นางเกศรา กล่าวในการแถลงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 58 และแผนงานครึ่งปีหลัง เดินหน้าขยายฐานผู้ลงทุนระยะยาว พัฒนาสินค้าและบริการให้หลากหลายด้วยคุณภาพและเป็นสากล สู่ความเป็น Digital Exchange โดย 6 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.) ยังคงสถิติมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันและการระดมทุนผ่าน IPO สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และมีจำนวนผู้ลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นราย

นางเกศรา กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของ ตลท.ในปี 58 ยังคงเป้าหมาย Market cap จาก IPO ทั้งตลาด SET และ mai จำนวน 250,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 159,485 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 130,000 ล้านบาทนั้น ในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 136,062 ล้านบาทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นผลของการเพิ่มทุนเพื่อควบรวมกิจการขนาดใหญ่ คือ BMCL-BECL และ WHA-HEMRAJ

อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังนี้จะมีหุ้น IPO รอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง SET และ mai ประมาณ 24 บริษัท โดยผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว 8 บริษัท จากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนแล้วจำนวน 17 บริษัท

ขณะที่จำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดหุ้นก็ยังคงเป้าหมายในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 95,000 คน โดยครึ่งปีแรกมีแล้ว 63,863 คน และจำนวนนักลงทุนใหม่ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่คาดไว้จะอยู่ที่ 9,500 คน จากที่ผ่านมามี 4,750 คนแล้ว

ส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.7 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท จากผลประทบภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว และความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ช่วงปลายปี ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไปนอกประเทศ แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากพื้นฐารนบริษัทจดทะเบียนไทยมีความแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานหรือกำไรยังเติบโตได้ดี

ดังนั้น ตลท.จึงยังคงเป้าหมายในระบะ 5 ปี คือ ในปี 62 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท และมี Market cap ประมาณ 20 ล้านล้านบาท เพราะมองว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพที่น่าลงทุน แม้ P/E จะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่มีผลตอบแทนสูงกว่ามาก โดยปัจจุบัน P/E อยู่ที่ 20 เท่า ส่วน Forward P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15 เท่า ขณะที่พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยมีอัตราหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยเพียง 1.29 เท่า ต่ำกว่าปี 40 ที่อยู่ระดับ 8.08 เท่า และมีสัดส่วนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศถึง 46% ถือว่ากระจายความเสี่ยงได้หลากหลายและมีความทนทานต่อภาวะทางเศรษฐกิจผันผวนได้เป็นอย่างดี

นางเกศรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีหลังนี้ (ก.ค.-ธ.ค.58) ตลท.จะมุ่งเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการโดยเตรียมการซื้อขายสัญญายางแผ่นรมควันล่วงหน้า(RSS3 futures) ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFEX) ภายหลังกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ และเตรียมรับสมาชิกจากตลาด AFET เพื่อให้บริการซื้อขายสินค้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดอบรมความรู้บุคลากรจาก AFET และจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้การลงทุนซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแก่ผู้ลงทุนในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ด้านการขยายฐานผู้ลงทุนระยะยาว ตลท.ยังมุ่งผลักดันการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นการลงทุนที่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาวของผู้ที่เป็นลูกจ้าง โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมการเพิ่มบริษัทที่ใช้นโยบาย Employee’s choice พร้อมๆ ไปกับการให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เหมาะสมกับอายุเพื่อเสริมสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว

สำหรับการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ตลท.มุ่งเน้นการให้ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่ Digital Exchange โดยการเปิด SET Application สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดได้ 44,000 ครั้ง และการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดให้เป็นช่องทางเดียว เพื่อรองรับการใช้งานและเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว โดยมียอดสมาชิกรวม 33,000 คนแล้วหลังเปิดให้บริการเพียงสองเดือน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิด Click2Win เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถจำลองการซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ผ่านสมาร์ทโฟน เพิ่มเติมจากเดิมที่สามารถใช้งานได้บนคอมพิวเตอร์

ขณะที่การขยายฐานต่างประเทศ ตลท.มีแผนขยายฐานผู้ลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และTFEX โดยเน้นการจัดโรดโชว์และเปิดโอกาสให้กับบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก ได้พบปะและให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนต่างชาติโดยตรง ทั้งการจัดงานโรดโชว์ในประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ (Thailand Focus) และโรดโชว์ต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเพิ่มบทบาทในการเป็น GMS Connector ด้วยการมีช่องทางระดมทุนเพื่อรองรับความต้องการเงินทุนของบริษัทจาก GMS และบริษัทต่างชาติที่หลากหลาย เช่น การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้งในรูปแบบ primary listing, secondary listing,infrastructure fund และ infrastructure trust รวมถึงเตรียมออกผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงกับตลาด GMS ได้แก่ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (GMS Depository Receipt: GMS DR)

ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างการเจรจาดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย หลัง ก.ล.ต.อนุมัติและประกาศใช้เกณฑ์ Primary Listing, Secondary Listing, Infrastructure Trust และ Infrastructure Fund ซึ่งเจรจาอยู่มากกว่า 10 บริษัท เจาะกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ คาดว่าภายในปีนี้จะเห็น 1 บริษัทเข้ามาจดทะเบียนแบบ Secondary Listing แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาดและดูแลสายงานกฏหมาย กล่าวว่า เกณฑ์คุมหุ้นร้อนที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้จำนวนบริษัทที่ติด Turnover List ลดลงเหลือเพียง 22 บริษัท จากต้นปี (ก.พ.58) ขึ้นไปสูงสุด 73 บริษัท และไม่มีบริษัทใดเข้า Trading alert ในขั้นที่ 3 จึงถือว่าน่าพอใจ และจะยังไม่มีการเพิ่มหรือปรับเกณฑ์ควบคุมใดๆ ในขณะนี้

สำหรับกรณีบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนเนื่องมาจากปัญหาฐานะทางกรเงินและผลการดำเนินงาน (NC and NPG) ที่มีรายชื่อทั้งสิ้น 19 บริษัท ขณะนี้ตลท.อยู่ระหว่างพิจารณาขยายเวลาแก้ไขฐานะกิจการ ซึ่งติดเกณฑ์ถึงกำหนด 7 ปีแต่ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ โดยปกติจะต้องถูกเพิกถอนหลักทรัพย์หากไม่สามารถทำตามเกณฑ์ได้ โดยคาดว่าภายในเดือนหน้าจะได้ข้อสรุปว่าบริษัทใดจะได้รับการขยายเวลา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการในการปรับปรุงแก้ไขของแต่ละบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ