นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า กำไรที่จะกลับมาเติบโตในปีหน้าส่วนหนึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสาในลาวที่บริษัทถือหุ้น 40% จะเดินเครื่องผลิตครบ 3 ยูนิตราวเดือน ก.พ.59 และภาวะทิศทางตลาดถ่านหินในปีหน้าจะไม่ต่ำไปกว่าปีนี้ที่คาดว่าทำระดับต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ราคาถ่านหินของบริษัทปีนี้น่าจะทำได้ราว 60 เหรียญสหรัฐ/ตันต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันต่อกำไรของปีนี้ แม้ว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสายูนิตแรกเข้ามาแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะราคาถ่านหินที่ลดลงตั้งแต่กลางปี 55 จากที่เคยทำระดับสูงสุดราว 140 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ราว 60 เหรียญสหรัฐ/ตันในปัจจุบัน แต่กระแสเงินสดของบริษัทยังคงเป็นบวกในระดับราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ต่ำกว่าในอดีตที่เคยทำได้ราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปีในช่วงที่ภาวะราคาถ่านหินอยู่ในระดับสูง และคาดว่ากระแสเงินในปีนี้คงจะรักษาระดับไว้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ
"กำไรที่เติบโตในปีหน้าจากหงสาก็ส่วนหนึ่ง และคงเรื่องภาวะทิศทางตลาดถ่านหินด้วย ซึ่งเราคาดว่าไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้ ปีนี้น่าจะ bottom แล้วกำไรเราลดลงมาน่าจะ 3 ปีแล้วตามราคาตลาด"นางสมฤดี กล่าวให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"
BANPU ทำกำไรสุทธิได้สูงสุดประวัติการณ์ที่ 2.47 หมื่นล้านบาทในปี 53 เนื่องจากมีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก่อนที่กำไรจะลดลงมาอยู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 54 และลดลงต่อเนื่องจนเหลือระดับ 2.68 พันล้านบาทในปีที่แล้ว เป็นผลจากราคาถ่านหินที่ลดลงตั้งแต่กลางปี 55 จากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้จัดทำแผนการผลิตถ่านหินในปีหน้า แต่เบื้องต้นไม่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตมากนัก เพื่อไม่ให้มีปริมาณการผลิตเข้าสู่ตลาดมาก โดยการผลิตถ่านหินในปีนี้อยู่ที่ราว 44 ล้านตันจากเหมืองอินโดนีเซีย 30 ล้านตันและออสเตรเลีย 14 ล้านตัน
ขณะที่ราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับต่ำทำให้การผลิตจากเหมืองถ่านหินในมองโกเลียเลื่อนการผลิตและขายจากเดิมที่จะเริ่มในปี 57-58 ออกไปเนื่องจากมีการศึกษาที่จะผลิตถ่านหินเป็นประเภท coal tar ที่จะเป็นวัตถุดิบนำไปทำเป็นน้ำมันดีเซลในอนาคต ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและทำราคาได้สูงกว่าปกติ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกมากกว่า 1 ปี
นอกจากนี้บริษัทยังมองว่าปีนี้มีโอกาสที่จะออกหุ้นกู้ในรูปสกุลดอลลาร์ ในวงเงินประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3-6 พันล้านบาทเพื่อทดแทนหุ้นกู้หรือเงินกู้เดิม โดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มหนี้สิน เพราะความจำเป็นในการใช้เงินยังไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำข้อมูลเพื่อนำบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในครึ่งแรกปี 59 เพื่อสะท้อนมูลค่าธุรกิจของบริษัทได้ชัดเจนมากขึ้น โดยภายหลังการขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)แล้ว BANPU มีเป้าหมายที่จะถือหุ้นในบ้านปู เพาเวอร์ เกินกว่า 65% ซึ่งเตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ บริษัทจะนำธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมดของ BANPU มาอยู่ภายใต้การบริหารของบ้านปู เพาเวอร์ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนแล้วทั้งหมดเกือบ 1,400 เมกะวัตต์ มาจากการถือหุ้น 50% โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี,ถือหุ้น 40% โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้า 3 แห่งในจีน และจะเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 เมกะวัตต์ในราวเดือน ก.พ.59 หลังจากโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 2 เริ่มผลิตในเดือน พ.ย.นี้ และหน่วยที่ 3 จะเริ่มผลิตต้นปีหน้า
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจไฟฟ้าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าในจีนอีกราว 50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีเกือบ 300 เมกะวัตต์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง(SLG)ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ที่ถือหุ้นอยู่ 30% จะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปี 60 ก็จะทำให้ในปีดังกล่าวธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม BANPU เติบโตได้ต่อเนื่องทั้งจากการรับรู้กำลังผลิตทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าหงสาได้เต็มปี และโรงไฟฟ้า SLG ที่แล้วเสร็จทำให้มีกระแสเงินสดคงที่ระยะยาวเข้ามาให้บริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างมองหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เน้นในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 200 เมกะวัตต์ภายในปี 60 และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนราว 10-20% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท เนื่องจากการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้เวลาก่อสร้างเร็วและจะสร้างกระแสเงินสดกลับมาให้บริษัทรวดเร็วด้วย
ขณะที่เดียวกันก็ยังให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักอื่นๆ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย และภูมิภาคเอเชียด้วย
*แผนกลยุทธ์ 5 ปี
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์ 5 ปี(ปี 59-63)คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/58 ขณะที่ตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวนอกเหนือจะผลักดันบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัดเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ยังจะมุ่งเน้นการขยายธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะมีกระแสเงินสดจากธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าในสัดส่วน 60:40 ซึ่งตามแผนธุรกิจไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้คาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทมากถึง 40-45% ภายใต้สมมติฐานที่ราคาถ่านหินยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก โดยถ่านหินยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ส่วนธุรกิจไฟฟ้าจะสร้างความสม่ำเสมอที่มั่นคงให้กับบริษัท
ตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวคาดว่าราคาถ่านหินจะยังอยู่ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก หลังปริมาณการผลิตในตลาดโลกยังสูงกว่าความต้องการใช้ที่เติบโตได้เพียงปีละ 3-4% แต่คาดว่าภาวะโอเวอร์ซัพพลายดังกล่าวน่าจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่สมดุลในระยะต่อไป หลังราคาถ่านหินที่ลดลงทำให้ผู้ผลิตบางรายลดระดับการผลิตไปบ้างแล้ว และด้วยต้นทุนการผลิตใหม่ที่สูงขึ้นก็มีส่วนที่จะผลักดันให้ราคาถ่านหินปรับขึ้นไปด้วย
สำหรับบริษัทก็คงไม่ได้เน้นการเพิ่มการผลิตจากเหมืองถ่านหินที่มีอยู่ แต่จะเน้นการรักษาระดับการทำกำไรและการบริหารกระแสเงินสด ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสในการหาปริมาณสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้อยู่ในระดับเฉลี่ย 15 ปี จากกว่า 10 ปีในปัจจุบันจากเหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย จะเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินจากปริมาณทรัพยากรถ่านหิน(resource)ของเหมืองที่มีอยู่ และการเข้าไปซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ โดยมองในอินโดนีเซียเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังจะเน้นการดูแลคุณภาพถ่านหิน ซึ่งอาจเป็นการนำถ่านหินจากแต่ละเหมืองที่มีอยู่ หรือนำถ่านหินจากเหมืองอื่นมาผสมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์การขายถ่านหินและการบริหารด้านการขนส่งของบริษัท
"แผนการผลิตเราจะไม่ได้เพิ่มมาก คือเรายังเน้นเรื่องการบริหารกระแสเงินสดมากกว่า ดังนั้น เรารักษาระดับการทำกำไร เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องผลิตปริมาณเยอะ ปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีเราไม่ได้เน้นแบบนั้น เราเน้นระดับที่เหมาะสม optimize ที่ได้มาร์จิ้นดีพอสมควร กระแสเงินสดเป็นบวก ส่วนปริมาณไม่ได้ลดลงมาก เพราะไม่ได้คิดจะต้องเพิ่มมาก"นางสมฤดี กล่าว
นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงสามารถทำกระแสเงินสดได้ราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่มีภาระจ่ายดอกเบี้ยราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และเงินต้นปีละ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีภาระหนี้สินสุทธิที่ใกล้ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในส่วนของการชำระคืนเงินต้นนั้นบริษัทสามารถที่จะรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระจ่ายเงินต้นได้ ขณะที่ในส่วนของการจ่ายเงินปันผลจะยังคงรักษาอัตราเงินปันผลต่อหุ้นไว้ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่กำไรสุทธิของบริษัทลดลงก็จ่ายปันผลเกิน 80% ของกำไรสุทธิ จากนโยบายปันผลจะอยู่ที่ 50% ของกำไรสุทธิ
ปัจจุบัน BANPU มีเหมืองถ่านหินอยู่ใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ,อินโดนีเซีย,จีน และมองโกเลีย ขณะที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าในไทย ,ลาว และจีน