นอกจากนี้ บริษัทจะใช้องค์ความรู้ด้านงานวิจัยที่ดำเนินการผ่านบริษัทบุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด เข้ามาพัฒนาส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 12.61 ตัน/ไร่ จากปีก่อนที่ทำได้ 12.22 ตันอ้อย/ไร่ และคุณภาพความหวานของอ้อย (CCS) คาดว่าจะเพิ่มเป็น 13.60 จากเดิมที่มี 13.48 ซึ่งจะส่งผลต่อการกระบวนการผลิตที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบและผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปี 57/58 ที่มีอ้อยเข้าหีบ 1.95 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 231,408 ตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเกือบ 119 กิโลกรัม
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริการจัดการด้านการผลิตของโรงงาน โดยขยายกำลังเพิ่มเป็น 2.3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตันอ้อย ก่อนเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 59/60
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า การเตรียมความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในครั้งนี้ นอกจากช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจน้ำตาลทราย และ BRR ยังสามารถนำผลพลอยได้มาเป็นวัตถุดิบในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวคิด Co-generation เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิให้เติบโตได้อย่างโดดเด่นต่อไป โดยได้จัดทำประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวัน 23 ก.ค.ที่ผ่านมา
"เรามีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและคุณภาพผลผลิตอ้อยจากไร่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบผลิตน้ำตาลทรายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เพื่อผลักดันผลการดำเนินงานของ BRR ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไป"นายอนันต์ กล่าว