"บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเกษตรปีนี้ไว้ที่ 50% และกลุ่มยานยนต์ 50% เพื่อกระจายฐานรายได้และลดความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว พร้อมตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของเมืองไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรของไทยในเวทีระดับโลก"นายนรากร กล่าว
นายนรากร กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินการในปี 58 จะสามารถพลิกกลับมามีกำไร แม้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้อาจจะยังมีผลขาดทุนอยู่ก็ตาม เนื่องจากบริษัทได้ปรับแผนของการรับงานในกลุ่มรับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในครึ่งปีหลังที่จะเน้นรับงานที่ให้อัตรากำไร(มาร์จิ้น)สูง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้กลยุทธ์ตัดราคาเพื่อให้มีปริมาณงานมากขึ้น ส่งผลให้งานมีมาร์จิ้นต่ำ อีกทั้งบริษัทยังหันมารุกธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งมีมาร์จิ้นสูง โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 35% และมีอัตรากำไรสุทธิ 11-12%
ส่วนรายได้ในปีนี้ยังคงเป้าหมายเติบโตกว่า 100% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 311 ล้านบาท มาอยู่ที่กว่า 700 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ของกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ราว 100 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้
"แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้จะซบเซา แต่เราได้กระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ซึ่งวันนี้เครื่องสีข้าวและเครื่องรีดยาง จะเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มการเกษตรตัวใหม่ของบริษัท หลังช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรแล้ว 2 ผลิตภัณฑ์ คือ เครื่องฆ่ามอดข้าวและไข่ข้าว และเครื่องปลูกมันสำปะหลัง เราก็คาดว่าผลิตภัณฑ์จะสามารถเริ่มจำหน่ายได้ในเดือนกันยายนนี้"นายนรากร กล่าว
นายนรากร กล่าวอีกว่า การซื้อสิทธิบัตรเครื่องสีข้าวชุมชนจะช่วยยกระดับการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทยและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยราคาเครื่องสีข้าวชุมชน อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท/เครื่อง
ขณะที่การผลิตเครื่องรีดยางพารานั้น บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท ยิปต้า จักรกลเกษตร เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องรีดยางพารา (ยางเครป) เพื่อร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรไทย และสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางพาราในอนาคต โดยเบื้องต้น UREKA ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตเครื่องจักรนั้น จะเป็นผู้ผลิตเครื่องรีดยางพารา และในอนาคตบริษัทมีแผนขยายตลาดเครื่องจักรกลไปยังกลุ่มพืชผลเกษตรอื่นๆเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาเครื่องคว้านเมล็ดลำใย คาดว่าจะนำไปแสดงในงานเทศกาลลำใยที่จังหวัดลำพูนช่วงกลางเดือน ส.ค. สำหรับแผนการซื้อกิจการธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน โดยบริษัท ยูเรกา ออโตเมชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยนั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนก.ย. หลังจากได้ทำการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์(Due Diligence) แล้วเสร็จทั้งหมด มูลค่าลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท โดยเงินลงทุนจะมาจากการออกตั๋วเงินกู้ระยะสั้น (B/E)