ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่เกิน 2 พันลบ.ของ TICON ที่“A/Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 31, 2015 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Negative" หรือ “ลบ"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตพิจารณาถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต่ำกว่าคาดการณ์ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการลงทุนและความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนกว่าคาดและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น “Stable" หรือ “คงที่" ได้หากบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 60% และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอต่อเนื่อง หรือบริษัทต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงิน

บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 67 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 80 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โลจิสติกส์หลักของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 528,681 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ณ เดือนมีนาคม 2558 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (43.5%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (7%) และกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (5.8%) ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวอยู่ในทำเลต่าง ๆ 18 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าใน 32 ทำเล

รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย บริษัทและบริษัทในเครือมีส่วนแบ่งทางการตลาดเท่ากับ 46% หากพิจารณาจากพื้นที่โรงงานที่มีผู้เช่า ณ เดือนมีนาคม 2558 สำหรับธุรกิจคลังสินค้าให้เช่านั้น บริษัทเป็น 1 ใน 2 ของผู้ให้บริการคลังสินค้าให้เช่ารายใหญ่ของไทย โดยพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทและบริษัทในเครือคิดเป็น 46% ของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งประเทศ

ในช่วงระหว่างปี 2557 จนถึงครึ่งแรกของปี 2558 พื้นที่ให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 280,156 ตร.ม. ในปี 2557 และ เพิ่มขึ้น 90,283 ตร.ม. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 180,000 ตร.ม. ในช่วงระหว่างปี 2554-2556 โดยประมาณ 90% ของพื้นที่ให้เช่าของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่คลังสินค้า พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 248,666 ตร.ม. ในปี 2557 และ 84,233 ตร.ม. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 135,000 ตร.ม. ในช่วงระหว่างปี 2554-2556 การเติบโตของพื้นที่คลังสินค้าเกิดจากความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นมากในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศ ในขณะที่พื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 31,490 ตร.ม. ในปี 2557 และ 6,050 ตร.ม. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ทั้งนี้ ความต้องการโรงงานให้เช่าในเขตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งคิดเป็น 23% ของพื้นที่ว่างให้เช่าทั้งหมดของบริษัทยังคงไม่ฟื้นตัว ความต้องการจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเดิมเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าหลักของโรงงานให้เช่ายังคงลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นอกจากนี้ ความต้องการโรงงานให้เช่ายังชะลอตัวเนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจยานยนต์ด้วย

อัตราการให้เช่าพื้นที่ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราการให้เช่าไม่รวมพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased Area) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เท่ากับ 57% เทียบกับระดับ 73% ณ สิ้นปี 2555 อัตราการให้เช่าพื้นที่ที่ต่ำมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่บริษัทลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่ ๆ จำนวนมากและอัตราการให้เช่าโรงงานที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาด

รายได้ค่าเช่าของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2558 เท่ากับ 246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 202 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามอัตรากำไรขั้นต้นของรายได้ค่าเช่าเท่ากับ 69% ลดลงจากระดับ 75% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและสัดส่วนรายได้ค่าเช่าจากคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยรายได้ค่าเช่าจากคลังสินค้าจะมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่ารายได้ค่าเช่าจากโรงงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 252 ล้านบาท ลดลงจาก 522 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากบริษัทไม่มีรายได้จากการขายสินทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2558 เทียบกับ 498 ล้านบาทจากการขายสินทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2557

อัตราส่วนกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัทลดลงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเท่ากับ 2.9 เท่าในปี 2557 และ 1.3 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2558 เทียบกับ 4.5-7.0 เท่าในช่วงปี 2553-2556 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 9.3% ในปี 2557 และ 6.8% (ปรับด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในไตรมาสแรกของปี 2558 เทียบกับ 10%-21% ในช่วงปี 2553-2556

เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 15,679 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 และ 17,229 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 18,720 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2558 จากการลงทุนจำนวนมากเพื่อเพิ่มโรงงานและคลังสินค้าในหลายทำเลทั่วประเทศ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 60% ณ สิ้นปี 2557 เป็น 62% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2558

ในอนาคต ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2562) สำหรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนโดยสามารถระดมเงินทุนบางส่วนได้จากการขายสินทรัพย์เข้า REIT ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ในปี 2558 บริษัทยังมีแผนจะขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 3,300 ล้านบาทเข้า REIT


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ