ในครึ่งแรกของปี 58 บริษัทสามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ได้ 30,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.76% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 15,273 ล้านบาท ลดลง 7.44% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 15,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.20% โดยเฉพาะในไตรมาส 2/58 สินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตถึง 28.64%
ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ณ สิ้นไตรมาส 2/58 อยู่ที่ 1.29% ซึ่งบริษัทจะรักษาระดับ NPL ณ สิ้นปีไม่ให้เกิน 1.5% ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นจากในระดับปัจจุบันบ้าง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น
นายสุรัตน์ กล่าวว่า ทั้งปี 58 ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.6-7.8 แสนคัน หรือติดลบจากปีก่อนราว 12-13% โดยได้รับปัจจัยลบจากรายได้ของประชากรที่ปรับตัวลดลงจากทั้งภาคการเกษตรและการส่งออก รวมถึงภัยแล้ง ทำให้มีความกังวลกับการใช้จ่ายมากขึ้น จึงมีการชะลอซื้อรถยนต์ นอกจากนี้หนี้ภาคครับเรือนก็ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90% ทำให้ยอดปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะซบเซาต่อเนื่องจนถึงปี 60 จึงจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น และช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อกลับมา และมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ประชาชนหันกลับมาซื้อสินค้าประเภทคงทนมากขึ้น อาทิ รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์
ดังนั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 58 จะยังคงเน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และลีสซิ่งรถยนต์กับผู้จำหน่ายรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย และยังคงลุยตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์รวมถึงกลุ่มฟลีท (Fleet) โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผลการดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังคงเน้นความร่วมมือกับกลุ่ม OEM อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครบวงจรด้วยหลักการ Synergy กับธนาคารกสิกรไทย และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในการวางแผนแนวทางธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน (CLMV)
"กลยุทธ์ครึ่งปีหลังบริษัทจะหันไปเน้นการปล่อยสินเชื่อที่เป็นภาคธุรกิจมากขึ้น และตลาดรถบรรทุกที่ยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการขนส่งได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิด AEC โดยบริษัทฯได้เพิ่มพอร์ตสินเชื่อที่เป็นรถบรรทุกมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และให้มีการเติบโตของพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง"นายสุรัตน์ กล่าว
นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กรมสรรพสามิตรองรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายรถยนต์ใหม่ปีหน้า โดยรถยนต์ขนาดเล็กเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซี หรืออีโคคาร์ ราคาขายจะปรับลดลง ขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,500 ซีซีขึ้นไป มีโอกาสปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100,000 บาทต่อคัน ทำให้คนที่ต้องการซื้อรถยนต์ขนาด 1,500 ซีซีขึ้นไปจะรีบซื้อในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ ส่วนคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ขนาดเล็กจะชะลอซื้อไปก่อน และกลับมาซื้อช่วงต้นปีหน้าที่ราคารถปรับลดลง และหากรัฐบาลประกาศปลดล็อคเงื่อนไขโครงการรถยนต์คันแรก ก็น่าจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนตลาดรถยนต์ได้ระดับหนึ่ง
ขณะที่คาดว่าประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันพรุ่งนี้ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม เชื่อว่า กนง.คงจะต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนผันผวนจะมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ