นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธาน รฟท.กล่าวว่า ในปี 62 สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการ จะทำให้จุดดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการเดินทางด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน(Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงระบบทางด่วน และโครงข่ายถนนสายหลัก ซึ่งศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่จะทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงจากเมืองที่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิต จากการเดินทางท่ามกลางวิกฤตจราจร สู่การเป็นเมือง ที่ผู้เดินทางหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนเช่นเดียวกับในมหานครชั้นนำทั่วโลก
การสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญ เช่น กรอบแนวคิดการวางผังพัฒนาพื้นที่ภายใต้ Concept “To become ASEAN Linkage and Business Hub" โดยทำเป็นคอมเพล็กซิตี้ เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ ซึ่งจะช่วยยกระดับให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 218 ไร่
รายละเอียดการพัฒนาแต่ละแปลงแบ่งเป็น 3 โซนคือ โซน A: Smart Business Complex เนื้อที่ 35 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ โซน B: ASEAN Commercial and Business Hub เนื้อที่ 78 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีกลางบางซื่อ ด้วยทำเลที่ตั้งที่ห่างจากตลาดนัดจตุจักรเพียง 700 เมตร และ โซน C: SMART Healthy and Vibrant Town เนื้อที่ 105 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสถานีขนส่งหมอชิต ด้วยความร่มรื่นของสวนสาธารณะขนาดใหญ่ โซน C จึงเหมาะแก่การพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความมีชีวิตชีวา"
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่โซน D เนื้อที่ 87.5 ไร่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง ภายใต้แนวคิด World Renowned Garden Interchange Plaza พัฒนาทางเดินเป็นแกนเชื่อมต่อพื้นที่แต่ละโซนในโครงการ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่การค้า และ Park & Ride เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สถานีกลางบางซื่อกับพื้นที่พัฒนาโครงการ รวมถึงตลาดนัดจตุจักร สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT
รูปแบบการลงทุนกับเอกชนคือ การให้สิทธิเอกชนระยะยาวในการใช้พื้นที่ และการร่วมทุนกับเอกชน (Joint Venture) ในลักษณะที่ให้เอกชน เป็น Master Developer เพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุน โซน A ประมาณ 10,000 ล้านบาท โซน B ประมาณ 24,000 ล้านบาท และโซน C ประมาณ 34,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ
ตามแผนการดำเนินงานคาดว่าปี 59 รฟท. จะนำเสนอโครงการฯ เข้าสู่กระบวนการของ พ.ร.บ. ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(PPP : Public Private Partnership)เนื่องจากมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อขออนุมัติ ครม. ในปี 2560 การรถไฟฯประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและสรรหานักลงทุน ในปี 2562 เปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ และในปี 2566 จะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ Business Hub บริเวณสถานีกลางบางซื่อ
ทั้งนี้ แผนระยะสั้น 5 ปี นับจากเปิดสถานีกลางบางซื่อจะพัฒนาโซน A เนื่องจากพื้นที่อยู่ใกล้สถานีกลางบางซื่อมากที่สุด เพื่อรองรับผู้เดินทางที่มากับรถไฟต่างๆ และโซน D ที่จะทำหน้าที่การเชื่อมต่อและเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง แผนระยะกลาง ช่วง 10 ปี จะพัฒนาแปลง B ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น โซน A และ D มีการพัฒนาเต็มที่และมีการเติม DEMAND ใหม่เข้ามาในพื้นที่ แผนระยะยาว 15 ปี คือ การพัฒนาแปลง C ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อเชื่อมโยงสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่แปลงต่างๆ
หลังจากนั้นได้เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปประกอบในการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่โครงการ นับเป็นการเปิดแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บนทำเลทองที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ ที่เปี่ยมศักยภาพในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการพัฒนาเมืองในประเทศไทยด้วยแนวคิด Transit Oriented Development (TOD) พัฒนาพื้นที่โดยใช้สถานีขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลางดึงดูดคนเข้าสู่พื้นที่โครงการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่การเป็นผู้นำของอาเซียนได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangsue-aseanhub.com