GPSC คาดกำไร-รายได้ปีนี้โต,วางเป้าให้บริการสาธารณูปการทั้งน้ำ-ไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 6, 2015 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC)แกนนำธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT)คาดกำไรสุทธิและรายได้ปีนี้เติบโตจากปีก่อน หลังจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบรวมถึงการรับรู้เงินปันผลจากบริษัทลูก ขณะที่เตรียมงบ 1.8 หมื่นล้านบาทรองรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2.8 พันเมกะวัตต์ภายในปี 63 ซึ่งจะมาจากการขยายงานตามแผนและการซื้อกิจการหรือร่วมทุน(M&A)พร้อมวางเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปการทั้งระบบ นอกเหนือจากการขยายงานในธุรกิจไฟฟ้าแล้วยังศึกษาการร่วมทุนกับกลุ่ม EASTW เพื่อให้บริการน้ำดิบและน้ำอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เชื่อว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.58 พันล้านบาทในปีที่แล้ว และมีรายได้เติบโตมากกว่า 16-17% จาก 2.39 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว โดยคาดว่าผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะออกมาดีกว่าครึ่งปีแรก จากการรับรู้เงินปันผลของบริษัทลูกที่จะเข้ามา รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 51% จะเริ่มผลิตระยะแรกในไตรมาส 3/58

ประกอบกับในช่วงปลายปีนี้ยังจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ให้กับโครงการฟีนอล 2 ของกลุ่ม ปตท.ซึ่งจะซื้อไฟฟ้าจากบริษัท 11 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 131 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 1.8 พันล้านบาท

"โครงการฟีนอล 2 จะเริ่มรับปลายปีนี้ ตามแผนจะรับไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการ CUP4 แต่ระหว่างที่รอ CUP4 ก็จะรับไฟจาก CUP1 ก่อนซึ่งก็จะรับรู้รายได้ได้ทันที รายได้ที่เข้ามาเยอะเหมือนกันก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 1,800 ล้านบาท ซึ่งจะ contribute ร่วม 7% ของรายได้ทั้งปี"นายนพดล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายนพดล กล่าวว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 1.8 หมื่นล้านบาทรองรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2.8 พันเมกะวัตต์ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 1.3 พันเมกะวัตต์ โดยเงินลงทุนจะมาจากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ราว 1 หมื่นล้านบาท และอีก 8 พันล้านบาทมาจากวงเงินกู้สถาบันการเงิน การขยายงานดังกล่าวคาดว่าจะผลักดันให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 200 เมกะวัตต์ และหนุนรายได้โตเฉลี่ยปีละ 16-17%

ทั้งนี้ ตามแผนจะใช้เงินลงทุนแบ่งเป็นราว 6 พันล้านบาท สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 500 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะทยอยแล้วเสร็จในปีนี้จนถึงปี 63 ได้แก่ โครงการ IRPC-CP,โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP)ที่ร่วมกับ บมจ.นวนคร(NNCL), โรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่นในเฟส 2(BIC2), โครงการไซยะบุรี และโครงการน้ำลิกในลาว

ขณะที่จะใช้เงินลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับรองรับกำลังการผลิตใหม่อีกราว 1 พันเมกะวัตต์ มีทั้งโครงการที่ดำเนินการเอง รวมถึงการเข้าซื้อกิจการหรือการร่วมลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยโครงการที่ดำเนินการเอง ได้แก่ โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 (CUP4) ในจ.ระยอง ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ และไอน้ำราว 70 ตัน/ชั่วโมง จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 60 แต่ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไว้มากกว่า 300 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถขยายงานได้อีกในอนาคต

โครงการโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 8-9 เมกะวัตต์ในจ.ระยอง คาดว่าน่าจะได้รับอนุญาตต่างๆเพื่อทำโครงการและสามารถหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในไตรมาส 4/58 โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 800-900 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนโครงการที่จะซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแมส 2 โครงการ ขนาดแห่งละ 9 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการที่จ.สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตรได้ในไตรมาส 4/58 โดยบริษัทจะถือหุ้นราว 40% ส่วนที่เหลือเป็นพันธมิตรที่จะป้อนวัตถุดิบทลายปาล์มเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และโครงการในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยทั้งสองโครงการเป็นโครงการได้ยื่นขอขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าในระบบ adder เดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้ยังให้ความสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ในประเทศ เช่น โครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในระบบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT Bidding และโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรด้วย

*รุกต่างประเทศ

นายนพดล กล่าวว่า สำหรับโครงการใหม่ในต่างประเทศนั้น บริษัทให้ความสนใจลงทุนในเมียนมาร์, อินโดนีเซีย ลาว และเวียดนาม โดยการเข้าลงทุนในแต่ละโครการต้องการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 25% และคาดว่าหวังจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR)ในช่วง 12-15% และการลงทุนคาดว่าจะไม่เกิน 2-3 โครงการในแต่ละประเทศ ขณะที่ปัจจุบันมีการลงทุนแล้วใน 2 ประเทศซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และน้ำลิกในลาว และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ขนาด 21 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตในปี 60

บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอีก 1 เฟส อยู่บริเวณใกล้เคียงกับเฟสแรก และมีขนาดกำลังการผลิตใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเป็นลักษณะของการเข้าไปซื้อใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้าเพื่อมาพัฒนาโครงการต่อ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังการก่อสร้างเฟสแรกเป็นไปตามแผนระยะหนึ่งก่อน รวมถึงยังได้เริ่มเจรจากับบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ญีปปุ่น เพื่อทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแมสด้วย

สำหรับโครงการในลาว ขณะนี้ได้คัดเลือกโครงการที่น่าสนใจจะเข้าไปร่วมทุนได้ราว 4-5 โครงการ หลังจากนี้จะเข้าไปดูรายละเอียดก่อนคัดเลือกโครงการมาเจรจาต่อไป ด้านโครงการในเวียดนาม ยังคงเฝ้าติดตามการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โดยบริษัทได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ แต่คงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง

ส่วนโครงการในอินโดนีเซียนั้น บริษัทจะเข้าไปซื้อหุ้นไม่ต่ำกว่า 25% ในบริษัทโฮลดิ้งที่ทำธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ ขณะที่การร่วมทุนกับ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซัมเซล ซึ่งมีทั้งโครงการที่ผลิตอยู่แล้วและการพัฒนาใหม่นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำข้อมูลร่วมกันเพื่อนำเสนอโครงการ

นายนพดล กล่าวว่า สำหรับโครงการในเมียนมาร์มีอยู่ราว 4-5 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริดขนาด 1,800-2,000 เมกะวัตต์ ได้ส่งผลการศึกษาเบื้องต้นให้กับรัฐบาลเมียนมาร์แล้ว และจะนัดประชุมความคืบหน้าในเดือนก.ย.,โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 400 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับย่างกุ้งและบริเวณรอบๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเชียงตุง ขนาด 600 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งได้ส่งผลศึกษาให้กับรัฐบาลเมียนมาร์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาทำเป็นข้อตกลงต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังต้องรอความชัดเจนของปริมาณก๊าซฯที่จะป้อนให้กับโครงการด้วย

*วางเป้า Utility Provider

นายนพดล กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการสาธารณปูการทั้งในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ รวมถึงให้ความสนใจจะเข้าไปดำเนินธุรกิจบริหารจัดการน้ำดิบและน้ำอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนกับบ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด(UU)ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก(EASTW)

"เราไม่ใช่ power อย่างเดียว เราเป็น Utility Provider ด้วย ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของ Utility ส่วนการร่วมทุนกับกลุ่ม EASTW ต้องคุยกันในหลายมิติ เราต้องไปดูในภาพรวม business model ที่เราวาดไว้เป็นอย่างไร อยู่ระหว่างการศึกษา อีสวอเตอร์ไม่ได้คุมพื้นที่ทั้งหมด ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขณะนี้เรามุ่งทำโปรเจ็คท์ที่จับต้องให้ได้ก่อน อันนี้เป็นแนวทางที่กรรมการบริษัทให้การสนับสนุนที่จะร่วมกันทำธุรกิจบริหารจัดการน้ำเพื่อให้บริการทั้งน้ำดิบและน้ำอุตสาหกรรม"นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทให้ความสนใจทำธุรกิจน้ำดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มปตท.เป็นผู้ใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก หากร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความชำนาญเพื่อต่อยอดให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นก็จะส่งผลดีต่อประเทศ ล่าสุดบริษัทได้ร่วมกับ UU ศึกษาและพัฒนาโครงการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้เป็นน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งมีโครงการนำร่องในพื้นที่พัทยา โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะ 1 ปีจากนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ