TBANK คาดกำไรปีนี้นิวไฮแตะ 1 หมื่นลบ. แม้ยอดขายรถหดตัวฉุดสินเชื่อไม่โต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 7, 2015 09:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต (TBANK) ในกลุ่มบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) คาดว่ากำไรสุทธิของธนาคารในปีนี้จะทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยกำไรจะแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่กว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (Right off) ออกไปเป็นจำนวนมาก และการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้การตั้งสำรองลดลง โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังที่การตั้งสำรองปกติจะลดลงจากครึ่งปีแรกที่ตั้งสำรองอยู่ที่กว่า 3 พันล้านบาท และสำรองพิเศษอยู่ที่ 1.7-1.8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไปเป็นจำนวนมาก และการปรับโครงสร้างหนี้นั้นส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารลดลงเป็น 3.6% ในครึ่งปีแรก และธนาคารจะพยายามลด NPL ให้ต่ำกว่า 3% ภายใน 1 ปี หรือภายในครึ่งแรกของปี 59

ขณะที่สินเชื่อรวมในปีนี้คาดว่าจะไม่เติบโตหรือเติบโต 0% ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เติบโต 2-4% โดยปัจจัยที่ฉุดการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้มาของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในครึ่งปีแรกที่ติดลบ 4-5% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปล่อยใหม่ชะลอตัว

แต่บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ของสินเชื่อรถยนต์โดยจะเน้นการทำเคมเปญกับค่ายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากค่ายรถยนต์ต่างกระตุ้นยอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังจะเน้นการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่มาชดเชยการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 3/58 และไตรมาส 4/58 นั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่จะขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยจะทำให้สินเชื่อทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวจะเติบโตมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

นายสมเจตน์ กล่าวว่า สำหรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารปัจจุบันแบ่งเป็น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 50% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ในปัจจุบันที่ 3.6 แสนล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อผู้ประกอบการรขนาดใหญ่สัดส่วน 40% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวแยกออกเป็น ยอดสินเชื่อคงค้างกลุ่มเอสเอ็มอี 7-8 หมื่นล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้างของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อรายย่อย อย่างเช่น สินเชื่อบ้านและเครดิตการ์ด เป็นต้น มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 8-9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาท

สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ระดับ 3% จากปัจจุบันอยู่ใกล้เคียง 3% หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1.50% ในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ