บลจ.กรุงไทย มองนลท.พักเงินกองตราสารหนี้หลังหุ้นเงียบ,ออก 2 กองสัปดาห์นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 11, 2015 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย (KTAM) กล่าวว่า นักลงทุนหันมาพักเงินในกองทุนประเภทตราสารหนี้กำหนดอายุโครงการ หลังดัชนีหุ้นไทยช่วงนี้แกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากรอปัจจัยสนับสนุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความชัดเจนขึ้น โดยการเปิดขายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 27 (KTFFE27) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถขายได้เต็มมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาทก่อนระยะเวลาที่กำหนด

ขณะที่ในสัปดาห์นี้ บริษัทได้เปิดจำหน่ายอีก 2 กองทุนตราสารหนี้ ให้ลูกค้าได้เลือกลงทุนตามความเหมาะสม ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 29 ( KTFFE29 ) อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท Medium Term Note (MTN ) ที่ออกโดย Banco Santander ( Brasil ) S.A. , ออกโดย Banco Latinoamericano de Comercio Exterior , S.A. , ออกโดย Turkiye Vakiflar Bankasi TAO , เงินฝากประจำ PT Bank Rakyat Indonesia (PERSERO) Tbk และเงินฝากประจำ Yapi ve Kredi Bankasi A.S. ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ผลตอบแทนประมาณ 1.95% ต่อปี

นอกจากนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่( Roll Over ) ของกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6 เดือน 5 (KTSIV6M5) อายุ 6 เดือน เสนอขายถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภท ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรภาครัฐ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ของภาคเอกชน เช่น บมจ.เอเชียเสริมกิจลีสซิ่ง บมจ.บัตรกรุงไทย บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ผลตอบแทนประมาณ 1.50% ต่อปี

สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะรุ่นอายุคงเหลือมากกว่า 4 ปี จากการที่ตลาดมองว่าแม้คณะกรรมการนโยบายบการเงิน (กนง.) ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังไม่มี และส่งออกไม่ดี อัตราผลตอบแทนคงไม่สามารถปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ได้ ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารระยะกลางตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ปรับตัวผันผวนตามตัวเลขเศรษฐกิจ และ แนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุคงเหลือต่ำกว่า 7 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนพันธบัตรระยะยาวอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง ตามการคาดการณ์ที่ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการที่เงินเฟ้อยังต่ำตามราคาน้ำมัน และตัวเลขการจ้างงานที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 bps. มาอยู่ที่ 0.73% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 bps. มาอยู่ที่ 1.59% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง -2 bps.มาอยู่ที่ 2.18% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ