นอกจากนี้กำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ในปัจจุบันมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 96 บาท/หุ้น จากต้นปีอยู่ที่ 110 บาท/หุ้น เนื่องจากผลการดำเนินงานของ 2 กลุ่มหลักออกมาไม่ดี ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ซึ่งโดนกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 40 เหรียญต่อบาร์เรลจากต้นปีอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรล และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เจอแรงกดดันจาก NPL ที่ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2% จากเดิม 2.1%
"ดัชนี 1,370 จุดมีโอกาสเห็นในเดือนกันยายนนี้ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยและหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยจะเห็นการขายทำกำไร ซึ่งกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงนั้น แต่หากผ่านพ้นไประยะหนึ่งค่าเงินเอเชียจะกลับมาแข็งค่าขึ้น และ จะเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับมาในช่วงปลายปีนี้ แต่ยังมองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยดาวน์ไซด์"นายกวี กล่าว
ส่วนปี 59 คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,600 จุด ซึ่งยังไม่ถึงระดับสูงสุดเดิมที่ทำไว้ในช่วงต้นปีที่ 1,620 จุด และแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังไม่กลับมาสดใสอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนได้ทำการเก็งกำไรรับข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับกลุ่มหุ้นที่แนะนำให้ลงทุน ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น KTB SCB BBL กลุ่มท่องเที่ยว เช่น AOT CENTEL MINT กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น SCC กลุ่มรับเหมา เช่น PYLON UNIQ กลุ่มค้าปลีก เช่น HMPRO CPN ส่วนกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง คือ พลังงานต้นน้ำ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยุโรป เช่น CPF TUF
ด้านนายนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยปีนี้อาจต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่เติบโต 2.3% หลังจากมีความเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับรอดูตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯที่จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/58 ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาประกอบการพิจารณาการปรับตัวเลขจีดีพีอย่างมีนัยสำคัญ
"จีดีพีมีโอกาสอาจจะหลุดกรอบล่าง 2.3% ได้ ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหนุน แต่การเบิกจ่ายภาครัฐมีความล่าช้า และหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงก็ทำให้กำลังซื้อลดลง ภาคส่งออกมีปริมาณส่งออกไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้กดดันเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ก็มองว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะขยายตัวได้ 0.7% จากไตรมาส 2/58 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ต่ำสุด และไตรมาส 4/58 จะเป็นไตรมาสที่สูงสุดซึ่งคาดว่าจพขยายตัว 1.4%"
ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยในปีนี้มีโอกาสจะต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ที่ -1.7% โดยยังต้องรอดูสภาพัฒน์เช่นเดียวกัน ส่วนค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้ได้ปรับค่าเงินบาทเฉลี่ยปีนี้อ่อนค่าลงเป็น 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบการแถลงการณ์ขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการให้น้ำหนักเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการส่งออก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าสูงอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท มากกว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารปีละ 5 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าถึงสิบเท่า โดยจะเป็นตัวที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากกว่า และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารต่างๆ ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร
"เราคาดว่าเดือนกันยายนเฟดจะส่งสัญญาณอีกครั้งว่าจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ต่อไปสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่เป็นแบบเดือนต่อเดือนอย่างที่ผ่านมา เฟดจะยืดหยุ่นขึ้น โดยการประชุมใน 1 ปีมี 8 ครั้ง จะขึ้นดอกเบี้ยแค่ 3 ครั้ง มีการบอกเป็นนัยว่าจะหยุดอีกสักระยะ เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินมากเกินไป"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่เกิดความชะลอตัวและค่าเงินหยวนได้อิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง และมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก อีกทั้งยทงส่งผลเชิงลูกโซ่าต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากสินค้าของไทยที่ส่งออกไปประเทศจีนมีมูลค่าสูงขึ้นในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน จึงส่งผลให้กำลังซื้อลดลงตามค่าเงินที่อ่อนค่า แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ยังเติบโต ทำให้นักลงทุนชาวจีนยังมีกำไรมาจับจ่ายใช้สอย
"ในระยะสั้นเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และเงินหยวนอ่อนค่าลง กระทบกับเราบางส่วน เพราะประเทศจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่ในระยะยาว ประเทศจีนยังมีอุปสงค์เติบโตต่อเนื่อง ช่วยให้ไทยยังสามารถส่งสินค้าออกไปจำหน่ายได้"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ การที่จีนอิงค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างส่วนแบ่งตลาดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสกุลเงินหยวนให้สามารถการแข่งขันในระดับโลก โดยปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 60-70% สกุลเงินยูโร 20% ที่เหลือเป็น ค่าเงินเยน และสวิสฟรังก์ อย่างไรก็ตามการที่จีนมีส่วนแบ่งของตลาด มี 3 เงื่อนไขด้วยกัน ได้แก่ ต้องสกุลเงินที่แพร่หลาย ซึ่งจีนผ่านเงื่อนไขข้อนี้ สองมีตลาดทุนที่กว้างใหญ่ และเปิดเสรี สุดท้ายดูแลเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ ซึ่ง 2 ข้อหลัง จีนยังไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไข