TNITY มองปรับค่าหยวนอ่อนกระทบส่งออกไทย-ค่าเงินภูมิภาคอ่อนตามในระยะสั้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 14, 2015 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการ บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา(TNITY) และ กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการปรับค่าเงินหยวนของทางการจีนในช่วงสั้น ค่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าลงมากกว่าอัตราที่ประกาศไว้อย่างช้าๆ อาจนำไปสู่เงินทุนไหลออกในช่วงสั้น ซึ่งอาจจะถึง 6.5-6.6 หยวน/ดอลลาร์ ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารจีนอนุญาตให้นักลงทุนชาวจีนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านหยวน สามารถนำครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ให้ลงทุนต่างประเทศ ขณะนี้เงินทุนไหลออกจากจีนจำนวนเกือบ 6 แสนล้านเหรียญฯ ใน 4 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่อีกสัก 1 ปีข้างหน้าค่าเงินหยวนคงแข็งค่าขึ้นมาใหม่จากการที่ประเทศต่างๆ มีเงินหยวน เป็นทุนสำรองของแต่ละประเทศ

ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ในสายตาผู้ผลิตของจีนราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชาวจีนอาจหันไปสู่การผลิตนอกประเทศ สินค้านำเข้าสู่ประเทศจีนจะสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยไปจีนได้ผลลบ ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียจะอ่อนค่าลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ส่งสินค้าออกไปประเทศจีนมากๆ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้

นายวิศิษฐ์ คาดว่าธนาคารจีนจะมีมาตรการที่ตามออกมาคือการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการลดอัตราส่วนเงินทุนสำรองที่กันไว้ที่ภาคธนาคาร (Required Reserve Ratio) อีกประมาณ 1% ในช่วงที่เหลือของปี 58 ธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คงไม่ใช่อย่างนั้น การลดค่าเงินหยวนมากกว่า 5-10% เป็นไปได้ยาก เพราะจีนมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3%ของ GDP มีทุนสำรอง 3.5 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 35% ของ GDP หรือ 25 เดือนของสินค้านำเข้าและมีหนี้ต่างประเทศตั้งแต่ 15% ของ GDP

ทั้งนี้ มองตลาดหุ้นไทย Maximum downside ที่ 1,350-1,380 เท่านั้น มองเป็นโอกาสในการซื้อ

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า การปรับค่าของค่าเงินหยวนที่เป็นมาตรการของธนาคารจีนถือว่าเป็นมาตรการที่ฉลาด เพราะในเดือน ก.ย.59 มีโอกาสมากกว่า 80% ที่สกุลเงินหยวนของจีนจะถูกนำไปสู่การคำนวณ SDR หรือตระกร้าเงินทุนสำรองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ถือเป็นการเตรียมตัวของเงินหยวนเข้าเป็นสกุลหนึ่งในตระกร้าของ IMF

ธนาคารกลางของประเทศจีนได้ประกาศการกำหนดค่าเงินหยวนจาก 6.1162 หยวน/ดอลลาร์ มาสู่ 6.2298 หยวน/ดอลลาร์ หรืออ่อนค่าเกือบ 2% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดในรอบเกือบ 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 1994 ธนาคารกลางจีนมีความตั้งใจให้ค่าเงิน Yuan สะท้อนการปฏิรูป (Reform) ของค่าเงินและการเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน (Regime) ของค่าเงินหยวนครั้งนี้เกิดจากการแข็งค่าของค่าเงินหยวนในรูปแบบ Real Effective Exchange Rates อย่างมาก ทำให้จีนสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน คือค่าเงินหยวนแข็งมากไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า

Special Drawing Rights (SDR) เป็นตระกร้าของสกุลเงินของทุนสำรองที่แนะนำและถูกจำกัดความโดย IMF และอาจจะเป็นตัวแทนทุนสำรองของประเทศสมาชิกเอง IMF ในปัจจุบัน SDR มีตะกร้าที่เป็นสกุลเงิน US$ (41.9%) Euro (37.4%) Pound Sterling (11.3%) และ YEN 9.4% โดยสกุลเงินทุนสำรองต่างๆ เหล่านี้จะถูกให้น้ำหนักตามปริมาณธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศและทุนสำรอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ