และหลังจากนี้ เตรียมดึงบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เข้ามาร่วมในการใช้เสาสัญญาณร่วมกัน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานปฏิบัติการ ADVANC กล่าวว่า บริษัทฯได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับบมจ.ดีแทค ไตรเน็ต หรือ ดีแทค ในการนำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของทั้งสองบริษัทออกมาให้ใช้ร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั่วประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว และยังตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และการบริหารงานของรัฐ (กสทช.) ในการกำกับดูแลการให้บริการสื่อสารและโทรคมนาคม
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว เอไอเอส ดำเนินการภายใต้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และดีแทค ไตรเน็ต มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพ บริการแก่ลูกค้า 3G 2100 MHz ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรองรับและสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งของเอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต
"ความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง โดยเอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต ได้ตั้งเป้าหมายจะมีเสาทั้งสิ้นปีนี้ 2,000 เสา"
ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ กรรมการ DTAC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นลักษณะการแชร์เสาสัญญาณสายละ 1,000 เสา โดยจะกระจายไปตามจุดที่แต่ละฝ่ายมีจำนวนเสาสัญญาณน้อย อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกัน ก็เพื่อดึงลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าถึงพื้นที่ใช้งานมากขึ้น เสริมความแข็งแกร่งในการบริการ ลดการลงทุนซ้ำซ้อนสำหรับโครงข่าย จากปัจจุบันที่พบว่ามีหลายพื้นที่ลงทุนซ้ำซ้อนโดยเปล่าประโยชน์ และยังทำให้การขยายสัญญาณเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และการปรับปรุงโครงข่ายได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเพิ่มตามมา เช่น สามารถลดปัญหาทัศนวิสัยและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการมีโครงสร้างพื้นฐานซ้ำซ้อนมากเกินจำเป็น
สำหรับการผนึกความร่วมมือกับทาง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจา เพื่อให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคในประเทศอย่างสมบูรณ์แบบในแง่การครอบคลุม พื้นที่ให้บริการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ส่วนเอไอเอส ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับทาง TRUE เช่นกัน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
ปัจจุบันดีแทคมีเสาสัญญาณในประเทศรวมทั้งสิ้นราว 15,000 เสา ขณะที่เอไอเอสมีอยู่กว่า 20,000 เสา
"ปัจจุบันประเทศต่าง ๆทั่วโลกมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งการใช้และการเชื่อมต่อการใช้งานโครงข่าย เพื่อลดพื้นที่เข้าถึงการใช้งานมือถือ และมีประโยชน์ร่วมกันสูงสุดของทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ"นายประเทศ กล่าว