(เพิ่มเติม) "ไทยฟู้ดส์"คาดเคาะราคา IPO ปลายสัปดาห์หน้า จากช่วง 2.10-2.30 บ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 14, 2015 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยฟู้ดส์ (TFG) คาดว่าจะกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (IPO) จำนวน 1.4 พันล้านหุ้น ได้ในช่วงปลายสัปดาห์หน้า จากเบื้องต้นกำหนดช่วงราคาที่ 2.10-2.30 บาท/หุ้น และเปิดให้จองซื้อหุ้นช่วงปลายเดือนส.ค. และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายได้ในช่วงต้นเดือนก.ย.

นายคมกฤต มีคำสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เคที ซีมีโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ TFG เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำหนดช่วงราคาการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน (Book-Building) ที่ 2.10-2.30 บาท ซึ่งมีการแบ่งขายให้กับนักลงทุนสถาบัน 30-40% โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายสัปดาห์หน้า และจะสามารถเปิดจองซื้อในช่วงปลายเดือนนี้ พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ต้นเดือน ก.ย.58

ขณะที่ได้มีการปรับใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคปในการเข้าจดทะเบียน เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 1/58 พลิกเป็นขาดทุน แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจึงไม่มีการเลื่อนเข้าจดทะเบียน โดยเชื่อว่าราคาหุ้นวันแรกของการซื้อขายจะไม่ประสบภาวะต่ำจองเหมือนบริษัทอื่นๆ ที่เข้าด้วยเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากราคาไอพีโอจะมีส่วนลดมากกว่า 30% จากราคาเหมาะสมที่ 3.30 บาท ที่สำคัญบริษัทมี P/E ระดับต่ำใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ 9-10 เท่า

ทั้งนี้ TFG เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านเนื้อสัตว์อันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งด้วยกลุ่มธุรกิจอาหารจะมีโอกาสในการเติบโตตามความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนทิศทางราคาไก่ภายในประเทศ เชื่อว่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้

ด้านนายวิณห์ ธนิตติราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ TFG กล่าวว่า บริษัทฯจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิต ที่จะขยายตัวมากขึ้นในปี 59 เป็นต้นไป หลังบริษัทฯมีแผนขยายธุรกิจสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะนำวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to eat) ซึ่งจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกไก่ภายใต้ชื่อสินค้า"ไทยอร่อย"ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการส่งออกขยับเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้จะนำไปใช้คืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วนประมาณ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีหนี้ระยะสั้น ระยะยาวรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สินต่อทุน D/E ปรับลดลงเหลือ 1 เท่า จากเดิม 2.1 เท่า และจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเพิ่มอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ให้มากขึ้น ประกอบกับที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทฯ

นายวิณห์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลประกอบการปีนี้บริษัทคงยังขาดทุน เนื่องจากราคาขายเนื้อสัตว์ในตลาดปรับตัวลดลงมากกว่า 10% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไปจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ตามปกติ จากการส่งออกได้มากขึ้น และลดภาระดอกเบี้ยบางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ