(เพิ่มเติม) BANPU รุกลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น ตั้งเป้าพอร์ตไฟฟ้าแตะ 4,000 MWในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 14, 2015 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู(BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นหลายโครงการทั้งในตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ รวมกำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือครองเท่ากับ 37 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างการประเมินโอกาสการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มเติมทั้งในจีน อินเดีย และประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อไปสู่เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 200 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี

ขณะที่บริษัทเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าทุกโครงการในทุกประเทศกว่า 2,300 เมกะวัตต์ภายในปี 61 จากที่มีอยู่ 1,400 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน และเพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ภายในปี 63 เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงในอนาคต

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า การลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 37 เมกะวัตต์จะใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนการร่วมทุนของบริษัทราว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้เงินกู้โครงการ (project finance) โดยบริษัทเข้าลงทุนทั้งหมด 5 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 59 เมกะวัตต์ ถือหุ้นในแต่ละโครงการตั้งแต่ 40-75% ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตคิดเป็นสัดส่วนการร่วมทุนของบริษัทจำวน 4 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจนครบภายในปี 61 และยังมีโอกาสลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย

“การลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเพราะมีความเหมาะสม ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ดี และสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้เร็ว ที่ญี่ปุ่นก็มีการโปรโมทโซลาร์ฟาร์มจำนวนมาก และได้อัตราค่าไฟฟ้าที่สูง"นางสมฤดี กล่าว

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 200 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกเหนือจากโครงการโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นแล้ว ยังให้ความสนใจโครงการในฟิลิปปินส์ เอเชียแปซิฟิก รวมถึงในไทย โดยสนใจทั้งพลังงานลม โซลาร์ และไบโอแมส โดยคาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนร่วมทุนกับพันธมิตร ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากเปลือกไม้ คาดว่าจะเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง

สำหรับโครงการพลังงานทดแทนดังกล่าว เป็นส่วนหนี่งของพอร์ตการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัท ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 61 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนกว่า 2,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,400 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายระยะยาวใน 63 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นราว 4,000 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน BANPU มีเหมืองถ่านหินอยู่ใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ,อินโดนีเซีย ,จีน และมองโกเลีย ขณะที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าในไทย ,ลาว ,จีน และญี่ปุ่น โดยในไตรมาส 2/58 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 54.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากราคาถ่านหินที่ลดลง และยังมีผลขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงินราว 17 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสมฤดี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มรายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าดีกว่าในครึ่งปีแรกที่ มีรายได้ 1.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.25 หมื่นล้านบาท หลังคาดว่าปริมาณผลิตถ่านหินในข่วงครึ่งปีหลังจะทำได้ 25.1 ล้านตัน เพิ่มจาก 23.4 ล้านตันในช่วงครึ่งปีแรก โดยครึ่งปีหลังเป็นการผลิตจากเหมืองอินโดนีเซีย 15.8 ล้านตัน ,ออสเตรเลีย 6.6 ล้านตัน และจีน 2.7 ล้านตัน ทำให้ปริมาณการผลิตทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 48.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ บริษัทได้ขายถ่านหินล่วงหน้าในช่วงครึ่งปีหลังแล้วราว 97% ที่ระดับราคา 59 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้เชื่อว่าความผันผวนจากราคาถ่านหินในขณะนี้จะไม่ส่งผลต่อราคาขายเฉลี่ยของบริษัทมากนัก และคาดว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 59 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่อยู่ระดับเฉลี่ย 65.36 เหรียญสหรัฐ/ตัน

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การที่ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจถ่านหินก็อยู่ในระดับต่ำด้วย น่าจะชดเชยจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทที่จะลดลงด้วย

นางสมฤดี กล่าวว่า ราคาถ่านหินปรับตัวลดลงมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย เชื่อว่าหลังจากนี้ภาวะดังกล่าวจะเริ่มเข้าสู่สมดุลมากขึ่น เนื่องจากราคาถ่านหินที่อยู่ระดับต่ำทำให้ปริมาณการผลิตหายไปจากตลาดค่อนข้างมากแลว โดยเฉพาะจากแหล่งในอินโดนีเซียที่ปริมาณการผลิตลดลงจากปีที่แล้วกว่า 40 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อปี โดยในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ถ่านหินของโลกจะอยู่ที่ 930 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการผลิตอยู่ที่ราว 935-938 ล้านตัน

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและการอ่อนค่าของเงินหยวนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาถ่านหินของบริษัทมากนัก เนื่องจากถ่านหินของบริษัทเป็นถ่านหินคุณภาพดี แต่น่าจะส่งผลต่อถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำมากกว่า นอกจากนั้นการที่ทางการจีนดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อต้องการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจของจีนดีขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆดีขึ้นด้วย

นางสมฤดี กล่าวว่า ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทขณะนี้จะเน้นการสร้างกระแสเงินสดเป็นหลัก โดยยืนยันว่าการลงทุนในทุกธุรกิจของบริษัทยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่เป็นบวกได้ และคาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดให้ได้มากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ในภาวะถ่านหินที่อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เพียงพอแก่การจ่ายคืนเงินกู้, แผนการลงทุน และการจ่ายเงินปันผล ซึ่งในภาวะปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนกำไรและกระแสเงินสดจากธุรกิจไฟฟ้าราว 35-40%

นอกจากนี้ ราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทยังมองโอกาสเข้าซื้อเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการมีปริมาณสำรองถ่านหินเป็น 15 ปีหรือราว 660 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 480 ล้านตัน หรือราว 11-12 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ