ก.ล.ต.ไฟเขียว"เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์"ขาย IPO 120 ล้านหุ้น เทรด Q3/58

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 17, 2015 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติแบบแสดงคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ของ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ แล้ว และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 3/58

ทั้งนี้ JWD ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท

สำหรับ JWD และบริษัทย่อยฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการรับฝากสินค้าและให้บริการด้านโลจิสติกส์ภาคพื้นดินอย่างครบวงจร (Fully Integrated In Land Logistics Service Provider) โดยครอบคลุมการให้บริการ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการรับฝากและบริหารสินค้าบนพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) โดยมีสินค้าที่ให้บริการ 4 ประเภทคือ สินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย สินค้ารถยนต์และสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง 2.ธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าในประเทศและขนส่งสินค้าข้ามแดน 3.ธุรกิจให้บริการขนย้ายในประเทศและต่างประเทศเจาะกลุ่มองค์กรและบุคคล โดยให้บริการขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้สำหรับที่พักอาศัย อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับโรงงานและสิ่งของสำหรับงานแสดงสินค้าและศิลปะ 4.ธุรกิจให้บริการรับฝาก บริการจัดการเอกสารและข้อมูลอย่างครบวงจรและ 5.ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจให้เช่าอาคาร-คลังสินค้าและธุรกิจให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

“หลังจาก ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว ที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทฯ จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ของ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมานานกว่า 35 ปีและการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจร จะสร้างความเชื่อมั่นใจให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะทำให้หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนแน่นอน"นายแมนพงศ์ กล่าว

ด้านนายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายรุกขยายธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินอย่างครบวงจรไปสู่กลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียน เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการเปิด AEC ในปี 59 โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างคลังสินค้าทั่วไปและคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็ง เนยแข็ง ไอศกรีม ในประเทศเมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกด้านอาหารในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยมีพื้นที่คลังสินค้ารวมทั้งสิ้น 6,490 ตารางเมตร

ส่วนธุรกิจในประเทศ บริษัทมีพื้นที่ให้บริการในเขตพื้นที่ทั่วไปและเขตปลอดอากรรวม 775,743 ตารางเมตร ประกอบด้วย คลังสินค้า 40 หลัง พื้นที่รวม 206,488 ตารางเมตรและลานรับฝากสินค้า 569,255 ตารางเมตร โดยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง 608,187 ตารางเมตร ถนนกรุงเทพกรีฑา 4,575 ตารางเมตร ถนนสามวา 19,200 ตารางเมตร ถนนบางนา-ตราด กม.19 ขนาด 94,480 ตารางเมตร ถนนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา 18,905 ตารางเมตร ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร 27,996 ตารางเมตร และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 2,400 ตารางเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวรวมพื้นที่ให้บริการสินค้าอันตราย 184,000 ตารางเมตร ที่บริษัทฯ ได้รับสัมปทานรายเดียวในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลให้สินค้าอันตรายทั้งหมดที่เข้า-ออกผ่านท่าเรือฯ ต้องผ่านคลังสินค้าอันตรายของบริษัทฯ เท่านั้น

สำหรับจุดแข็งการดำเนินธุรกิจของบริษัท ได้แก่ 1.บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างครบถ้วน 2.มุ่งเน้นให้บริการในกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะธุรกิจซับซ้อนสูงกว่าทั่วไป เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้าอันตราย สินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นแช่แข็ง สินค้ารถยนต์ซึ่งต้องการความถูกต้องและรวดเร็ว และ 3.ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้บริหารจัดการคลังสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาโดยบริษัทฯ ในเครือ

ทั้งนี้ บริษัทสามารถทำรายได้ค่าเช่า การบริการและรายได้จากการขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/58 บริษัทฯ มีรายได้รวม 618.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.47% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 79.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.64% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจและการซื้อกิจการคลังสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง

“บริษัทเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศอย่างครบวงจรมานานกว่า 35 ปี และวันนี้เราพร้อมต่อยอดความสำเร็จและความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดิน เพื่อรุกสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยมุ่งนำจุดแข็งด้านระบบซอฟท์แวร์มาใช้บริหารโลจิสติกส์และระบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างสูงสุด"นายชวนินทร์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ