"มั่นใจว่าผลการดำเนินของบริษัทในปี 58 น่าจะมีการเติบโตที่สดใส และคาดว่ารายได้จะเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านเยน จากมูลค่างานในมือที่มีอยู่ 2แสนกว่าตัน และยังมีแผนที่จะเข้าประมูลงานใหม่ๆ มูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น"นายชิ กล่าว
นายชิ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่โรงงานที่อยุธยาประมาณ 70,000 ตัน/ปี โดยในปีนี้คาดว่าจะใช้กำลังการผลิตโดยรวมประมาณ 40,000-45,000 ตัน ซึ่งบริษัทจะต้องสำรองไว้ในส่วนของการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนงานตามความต้องการของลูกค้า
ขณะที่แผนขยายการลงทุนนั้น ตามปกติแล้วบริษัทจะตั้งงบประมาณเรื่องการลงทุนปรับปรุงโรงงาน หรือต่อเติมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มการผลิต การขยายโรงงานเพิ่มเติม โดยใช้งบประมาณแต่ละปีไม่น้อยกว่าค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ของบริษัท โดยในปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศในปีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 13 ส.ค.มีมติอนุมัติเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทให้บริษัทเข้าไปลงทุนในโรงงานลักษณะคล้ายกับบริษัท ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการผลิตชิ้นงานให้กับลูกค้าที่ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/58 บริษัทมีรายได้รวม 850.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,207.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 153.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 754.65% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 23.38 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการส่งมอบโครงสร้างเหล็กให้กับลูกค้าต่างประเทศ 12,210 ตัน เพิ่มขึ้น 11,500 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 1,637% เพราะในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนไม่มีงานส่งออกในต่างประเทศ และปีนี้ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคก่อสร้างในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการส่งมอบงานบางโครงการที่มีความยากของงาน ทำให้มีราคาขายที่สูงขึ้น รวมทั้งในปัจจุบันบริษัทได้รับมาตรฐานโรงงานระดับ S Grade ซึ่งทำให้งานที่รับเข้ามาบางส่วนมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทมีกำไรขั้นต้น 330.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,559.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรขั้นต้นที่ 19.93 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งปีแรกของปีนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยมีรายได้รวม 1,768.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 384.08 % และกำไรสุทธิ 344.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,947.14 % เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้เหล็กโครงสร้างในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และสินค้าส่วนใหญ่มีมาร์จิ้นสูง เพราะเป็นงานที่มีการบวนการผลิตที่ซับซ้อน ทำให้ขายได้ราคาดี