ส่วนธุรกิจเอทานอลคาดว่ารายได้ในปี 59 จะลดลงไม่มากจากปีนี้ เพราะตั้งเป้าจะมีปริมาณขายเพิ่มขึ้นมาที่ 120 ล้านลิตร จาก 106 ล้านลิตรในปีที่แล้ว แต่ราคาขายคงไม่สูงกว่าปีนี้ โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีราคาเฉลี่ยที่ 25 บาท/ลิตร และคาดว่าราคาเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังจะลดลงราว 0.30 บาท/ลิตร ส่วนราคาขายเอทานอลในปี 59 มองว่าจะอยู่เฉลี่ยราว 23 บาท/ลิตร ใกล้เคียงกับราคาในช่วงครึ่งหลังปีนี้
ขณะที่มองราคาโมลาสซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ในช่วงปี 59 น่าจะอยู่ที่อยู่ที่ตันละ 4,000 บาทต้นๆ ต่ำกว่าปีนี้ที่ 4,700 บาท/ตัน เนื่องจากราคาน้ำตาลถูกมากส่งผลให้ราคาโมลาสก็น่าจะปรับลงด้วย แต่ราคาโมลาสจะไม่ลงมากเท่ากับราคาน้ำตาลเพราะยังมีความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลอยู่
"ปี 59 ในส่วนของเหมืองต้องประคอง ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าก็คงยังไม่เห็นการ generate รายได้ในปี 59 น่าจะเป็นปีถัดไปมากกว่า ซึ่งปี 59 วอลุ่มถ่านหินคงทรงๆ เพราะ LHI ยืนที่ 3-3.5 ล้านตัน SGP ก็พยายามจะพัฒนามากขึ้น ขณะที่เทรดดิ้งจะเพิ่มเป็น 1-1.2 ล้านตัน ขยับขึ้น 10% จากปีนี้ที่ 9 แสน-1 ล้านตัน ส่วนเอทานอลวอลุ่มมากขึ้นแต่ราคาขายไม่สูง แต่ก็เชื่อว่ายังดี เพราะปี 59 จะสามารถ cost saving ไฟฟ้าได้มาก... น่าจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ราว 70 ล้านบาท หลังก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าผลิตได้เต็มที่"นายสีหศักดิ์ กล่าว
LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP ขณะเดียวกันยังถือหุ้น 51% ในบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) ซึ่งทำธุรกิจเอทานอลด้วย
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ยังมั่นใจว่าจะทำกำไรสุทธิได้แน่นอน แม้ว่าในในช่วงไตรมาส 2/58 กำไรจะลดลงจากไตรมาส 1/58 ก็ตาม แต่ในช่วงครึ่งปีแรกก็สามารถทำกำไรสุทธิได้ระดับ 191 ล้านบาทแล้ว และคาดว่ากำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีหลังก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แม้ว่าในส่วนของปริมาณขายถ่านหินจะน้อยกว่าครึ่งแรกที่ทำได้ 3.05 ล้านตัน
เนื่องจากมีแผนจะลดการผลิตของเหมือง SGP ลงอีก เพราะการดำเนินงานในไตรมาส 2/58 ยังขาดทุนต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ทำให้ต้องพยายามบริหารจัดการแหล่งผลิตจากเหมืองให้มีกำไรด้วยการลดการผลิตลง โดยทั้งปีนี้คาดว่าจะมีการผลิตลดลงจากกำลังการผลิตระดับปกติที่ 2-2.5 ล้านตัน/ปี ส่วนการดำเนินงานของเหมือง LHI ยังนับว่ามีกำไรอยู่ ก็จะคงระดับการผลิตที่ 3-3.5 ล้านตัน/ปี
"ยังคงนโยบายจ่ายปันผลในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิ แต่ปกติจะจ่ายในอัตรา 88-93% ทุกปี ปีนี้ก็คงจ่ายในอัตราเดิม เพราะยังไม่มีการลงทุนใหม่"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า แผนการซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ในอินโดนีเซียนั้น คงชะลอไว้ก่อนเพราะผู้ขายไม่ลดราคาให้ ทำให้ต้องรอคณะกรรมการบริษัททบทวนแผนการลงทุนใหม่ในเดือนต.ค.นี้ และรอจังหวะที่เหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินใหม่
"เหมืองใหม่ซื้อไม่ลง เจรจาจนจบแล้ว แต่ยังไม่ล้ม...ก็ยังพยายามคุยกับเจ้าของอยู่ แต่เจ้าของก็ไม่รีบ ถึงแม้จะอยากขาย แต่ไม่ลดราคาให้ เราก็ยังไม่เอา"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อเข้ายื่นประมูลเป็นผู้จัดหาถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งคาดว่าจะประกวดราคาถ่านหินในช่วงสิ้นปีนี้ โดยปัจจุบันบริษัทสามารถหาพันธมิตรในไทยได้แล้ว 1 ราย และรอเจรจาพันธมิตรต่างประเทศอีก 1 ราย โดยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้ากระบี่คาดว่าจะต้องใช้ถ่านหินราว 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คงจะไม่เลือกซัพพลายเออร์เพียงรายเดียวอาจจะเลือก 2-3 ราย ซึ่งก็สามารถซัพพลายให้ได้ประมาณ 1-1.5 ล้านตัน/ปี
"ถ่านหินของเราจากแหล่งอินโดนีเซีย ก็คงสู้ได้ และเรามีโลจิสติกส์ที่ดี ก็มีโอกาสและเป็นบริษัทไทย และเราก็อยากจะทำต่อเนื่อง จากนั้นก็จะไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่จะซัพพลายก็ได้แก่ พม่า กัมพูชา และโครงการโรงไฟฟ้าหงสาก็น่าสนใจ เรายื่นประมูลในเฟสต่อไป ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศเราจะไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าเองแต่เราจะซัพพลายถ่านหินเป็นหลัก"นายสีหศักดิ์ กล่าว
ส่วนโครงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรท้องถิ่น หากรัฐบาลประกาศหรือเปิดให้ยื่นประมูลก็พร้อมจะเข้าร่วมประมูลด้วย โดยมองการลงทุนที่เกาะสุมาตรา มีกำลังการผลิตที่จะยื่นราว 150-300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้ถ่านหินประมาณ 3 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 1 ปีข้างหน้า