อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ศาลอาญาไม่รับฟ้องกรณีบริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัดได้ยื่นฟ้อง ดังนั้นขณะนี้เหลือเพียงรอฟังผลจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) กรณีที่ บริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ซึ่งจะประชุมในวันที่ 26 ส.ค.นี้ คาดว่าจะแจ้งผลอย่างเป็นทางมายังขสมก.ภายในต้นเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ขสมก.มั่นใจในการประมูลว่าได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ กำหนดราคากลาง 3.65 ล้านบาทต่อคัน และผลประมูลเหลือ 3.5 ล้านบาทต่อคัน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อขสมก.และนอกจากมีสัญญาคุณธรรมแล้วบอร์ดขสมก.ยังตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดหารถ 489 คันอีกด้วย โดยตามแผนจะรับมอบรถ 50 คันแรก ในวันที่ 16 พ.ย. และ26 พ.ย. รับอีก100 คัน ต้นเดือนธ.ค. รับอีก 150 คันและครบ 489 คันในกลางเดือนธ.ค.2558
สำหรับรถที่เหลือจำนวน 2,694 คันนั้น ตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ขสมก.ทำการทดสอบประสิทธิภาพรถ 489 คันก่อน ซึ่งจะเน้นทดสอบเรื่องระบบรถชานต่ำ กับการวิ่งบนถนน และสะพานต่างๆ คาดว่าประมาณ 30 วันจะสรุปผลได้ ส่วนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้านั้น กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานศึกษา ไว้ว่าจะน่าจะทดลองที่ 500 คันแต่เนื่องจากราคารถเมล์ไฟฟ้าสูงถึงกว่า 12 ล้านบาทต่อคัน ระยะเวลาคุ้มทุน 20 ปี ซึ่งจะเป็นภาระขสมก.มาก จึงต้องรอนโยบายที่ชัดเจนว่าจะจัดหาอย่างไร การลงทุนเป็นอย่างไร และมีโอกาสผลิตในประเทศหรือไม่เพื่อลดราคาลง
ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ขสมก.มีแผนจะปรับปรุงรถโดยสารเก่าอายุประมาณ 24 ปี จำนวน 600 คัน เพื่อนำมาวิ่งทดแทนไปก่อน โดยว่าจ้าง เทคโนโลยีลาดกระบังศึกษาต้นทุนเพื่อนำมากำหนดราคากลางในการประมูลซ่อมบำรุง ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 3-4 แสนบาทต่อคัน โดยจะเลื่อนจากกำหนดเดิมเดือนธ.ค.2558 ออกไปเล็กน้อย โดยขณะนี้ มีรถทั้งหมด 3,000 คัน วิ่งให้บริการจริง 2,600-2,700 คัน เพราะต้องหมุนเวียนซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงส่วผลดีทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงลดลงประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน ในขณะที่รายได้ยังอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังเท่าเดิม และไม่มีรถใหม่เข้ามาจูงใจในการใช้บริการ