TRT รับปี 58 พลิกขาดทุนรับผลกระทบเริ่มธุรกิจใหม่สายพานลำเลียงถ่านหิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 25, 2015 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ถิรไทย (TRT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้จะขาดทุนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 49 หลังจากได้รับผลกระทบจากธุรกิจใหม่ในการรับงานสายพานเหล็กลำเลียงถ่านหินเข้าสู่โรงไฟฟ้า (Belt conveyor system) ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว ทำให้การจัดการต่างๆยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งบริษัทรับงานดังกล่าวมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกขาดทุน 91.10 ล้านบาท ทั้งนี้ในปีก่อนบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 48.08 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้อีกครั้งเหลือราว 2.3 พันล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ได้ปรับลดจาก 3 พันล้านบาท เหลือ 2.6-2.7 พันล้านบาท เนื่องกลุ่มธุรกิจหม้อแปลงก็ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทำให้งานใหม่ลดลง อย่างไรก็ตาม มองว่าการเลื่อนโครงการของภาครัฐจะกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เพราะไม่ได้มีการยกเลิกโครงการ เพียงแต่เลื่อนออกไปเท่านั้น

“เรามองว่าโครงการภาครัฐที่เลื่อนออกไปนั้น ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าก็คงจะสามารถเปิดรับประมูลงานได้ตามแผน เราก็เตรียมเข้าร่วมประมูลงานใหม่มูลค่ารวม 9.1 พันล้านบาท ซึ่งเราคาดหวังได้งานมากกว่า 20-25% แบ่งเป็น งานของการไฟฟ้านครหลวง 1.2 พันล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4 พันล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 250 ล้านบาท ภาคเอกชนภายในประเทศ 1.7 พันล้านบาท และส่งออก 1.5 พันล้านบาท"นายสัมพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจสายพานเหล็กลำเลียงถ่านหินเข้าสู่โรงไฟฟ้าแม้ปีนี้จะขาดทุน แต่มองว่าเป็นการซื้อประสบการณ์และโอกาสสำหรับอนาคต เพราะจากการประเมินความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือกที่ดีในลำดับต้นๆ และมีต้นทุนที่ถูกกว่าพลังงานทดแทน แม้จะถูกคัดค้านในปัจจุบัน ซึ่งยังคงเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินมูลค่างานต่อปีหลายพันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังจะมีรายได้ในส่วนดังกล่าวปีละไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท

ส่วนธุรกิจหม้อแปลง ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมขยายฐานกลุ่มหม้อแปลงขนาดใหญ่ 500 KV จากปัจจุบันที่ผลิตสูงสุดที่ระดับ 300 KV เพราะมองว่าตลาดดังกล่าวยังมีคู่แข่งน้อยรายและมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะจากโครงการการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในอาเซียน(ASEAN Power Grid) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง มูลค่า 300 ล้านบาท ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทยอยส่งมอบใน 2 ปี และหากยอมรับในคุณภาพ จะทำให้บริษัทฯ เข้าประมูลงานต่อๆ ไปได้ด้วยตนเอง ซึ่งประเมินว่ามูลค่างานดังกล่าวจะอยู่ที่มากกว่า 5 พันล้านบาทต่อปีในอีก 5-6 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 2.94 พันล้านบาท รับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 2.19 พันล้านบาท ที่เหลือจะทยอยรับรู้ฯ ในปี 59 แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง 119 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 100 ล้านบาท และ กฟผ.256 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,051 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 752 ล้านบาท และอื่น ๆ อีกกว่า 666 ล้านบาท

บริษัทยังได้เข้าร่วมประมูลงานอย่างต่อเนื่องในวงเงินมูลค่ากว่า 9,100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง 1,200 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4,000ล้านบาท และ กฟผ.250 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,700 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 1,500 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อยอีกกว่า 200 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ