ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักในตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากระดับการก่อหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนให้อยู่ในระดับเดียวกับในปัจจุบัน การปรับเพิ่มอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน ความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทลงในอนาคต
SPALI เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2532 โดยตระกูลตั้งมติธรรม ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลตั้งมติธรรมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทถือครองหุ้นในสัดส่วนทั้งสิ้น 28% และบริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 130 โครงการ บริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้เป็นจำนวนมากประมาณ 37,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 เท่าของฐานรายได้ในปัจจุบัน โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทประกอบด้วยโครงการคอนโดมิเนียมคิดเป็น 56% และโครงการบ้านจัดสรรอีก 42% ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้บริษัทสามารถเสนอขายที่อยู่อาศัยในราคาที่แข่งขันได้
บริษัทเริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศโดยได้ซื้ออาคารสำนักงานในประเทศฟิลิปปินส์ด้วยเงินประมาณ 900 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2556 และได้ลงทุนในกิจการร่วมค้า 2 แห่งกับพันธมิตรท้องถิ่นด้วยเงินประมาณ 230 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งกิจการร่วมค้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าวดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยมี 2 โครงการที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในต่างประเทศถือว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท
ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ 19,191 ล้านบาทในปี 2557 ทรงตัวเมื่อเทียบกับยอดขายจำนวน 19,153 ล้านบาทในปี 2556 โดยยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมลดลง 8% เป็น 11,339 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 16% เป็น 7,852 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 9,171 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายโครงการบ้านจัดสรร
บริษัทมีรายได้จำนวน 18,591 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้โครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 86% เป็น 10,385 ล้านบาท ในขณะที่รายได้โครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 17% เป็น 7,885 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 10,127 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 2558 จนถึงปี 2561 ส่วนหนึ่งมียอดเงินจากสินค้ารอส่งมอบที่รอรับรู้รายได้สนับสนุนไว้แล้ว โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 บริษัทมียอดรอรับรู้รายได้จำนวนประมาณ 11,000 ล้านบาท ในปี 2559 มีจำนวน 10,000 ล้านบาท และระหว่างปี 2560 ถึงปี 2561 มีอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท รายได้ของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 20,000-24,000 ล้านบาทต่อปี
สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทมีอัตรากำไรที่สูงกว่าผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 30%-35% ยกเว้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเป็น 27% จาก 32% ในปี 2557 จากการมีต้นทุนก่อสร้างโครงการศุภาลัย เวลลิงตัน 1 ที่สูงกว่าคาด ระดับการก่อหนี้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยในช่วงปี 2553-2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 30%-36% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนอยู่ที่ 0.4-0.6 เท่า หลังจากนั้นในช่วงปี 2557 จนถึงครึ่งแรกของปี 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 45%
ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนเพิ่มขึ้นเป็น 0.8 เท่า ในอนาคตคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในปัจจุบัน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมขึ้นและลงอยู่ในช่วงระหว่าง 50%-54% ในช่วงปี 2553-2555 ซึ่งระดับดังกล่าวถือว่าสูงสำหรับอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 25%-40% ในช่วงปี 2556 จนถึงครึ่งแรกของปี 2558 เนื่องจากบริษัทมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่มากเพียงพอโดยได้รับแรงหนุนจากวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 22,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558