นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับโรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับซีพีเอฟติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับให้กับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อช่วยระบุแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability)ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นทางร่วมปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบสอดคล้องกับนโยบายการรับซื้อข้าวโพดอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ และขณะนี้บริษัทฯ สามารถดำเนินการอบรมและทำความเข้าใจกับคู่ค้าธุรกิจที่มีทั้งหมดรวม 400 รายเพื่อขอความร่วมมือในการเชื่อมต่อถึงเกษตรกรผู้ผลิตเพี่อเข้ามามีส่วนร่วมในการยืนยันข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวโพดอย่างถูกต้อง
“ระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้คู่ค้าธุรกิจข้าวโพดของบริษัทฯ ดำเนินตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน โดยสามารถระบุแหล่งที่ปลูกและเกษตรกรผู้ปลูกได้ทั้งหมด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คู่ค้าธุรกิจมีส่วนร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม " นายไพศาลกล่าว
นายไพศาล กล่าวต่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับปรับปรุงขึ้นมาจากระบบตรวจสอบแหล่งที่มาโดยอาศัยหลักการสมดุลมวล (mass balance traceability) เพื่อช่วยระบุแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและพื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกได้ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้คู่ค้าธุรกิจฯ ทุกรายสามารถบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งระบบนี้จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้วัตถุดิบกับเกษตรกรผู้ผลิตในการประสานความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ระบบดังกล่าวที่บริษัทฯ จัดทำขึ้นผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ อาทิ คู่ค้าธุรกิจ เกษตรกร นักวิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้คู่ค้าธุรกิจทั้งหมดที่มีอยู่รวม 400 รายได้มีความตระหนักและเข้าใจในเรื่องนี้เมื่อเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของบริษัทจะซับซ้อน แต่บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการวางระบบเพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาวัตถุดิบ เพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าธุรกิจข้าวโพด และเกษตรกรได้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน" นายไพศาล กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรร่วมเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในส่วนของเกษตกร บริษัทฯ ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) จัดทำ โครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ อบรมให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้เข้าใจถึงการลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นและร่วมลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ในปีนี้ บริษัทฯ กำลังดำเนินการโครงการใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 45,000 ไร่ และตั้งเป้าภายใน 5 ปี (2558-2562) จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 225,000 ไร่
นอกจากนี้ บริษัทฯเดินหน้าทำความเข้าใจกับคู่ค้าธุรกิจข้าวโพดและเกษตรกรทั่วประเทศได้เข้าใจและร่วมดำเนินการตามนโยบายการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง และประยุกต์ใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นประโยชน์ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ และได้ราคาที่สูงขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่นใจว่าข้าวโพดมาจากพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน จากการมีส่วนร่วมดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของบริษัท และร่วมสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม