PDI คาดกำไรปี 58 ใกล้ปีก่อนแม้ราคาสังกะสีลดลง,เจรจาซื้อกิจการ 3-4 ดีล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 27, 2015 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 461.13 ล้านบาท แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากราคาโลหะสังกะสีที่ปรับลดลง แต่บริษัท ภูเทพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจสำรวจแหล่งแร่ทองแดงได้รับการยกหนี้ 235.5 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้บันทึกเป็นกำไรพิเศษไปแล้วในไตรมาส 2/58 ขณะที่อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการพลังงานทดแทน รวมถึงกิจการรีไซเคิลของเสียในประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อยู่ 3-4 ดีลเพื่อขยายธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้อาจจะยังไม่ดีมากนัก เป็นผลมาจากราคาโลหะสังกะสีปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยปัจจุบันราคาอยู่ที่ 1,750 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ปีที่แล้วราคาโลหะสังกะสีอยู่ที่ 2,162 เหรียญสหรัฐ/ตัน ประกอบกับ ปริมาณความต้องการใช้โลหะสังกะสีโลกในปีนี้ลดลง 3% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาวะอุตสาหกรรมการก่อสร้างของจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าโลหะสังกะสีรายใหญ่ของโลกชะลอตัวลง

แต่บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาท/ดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยในครึ่งปีแรกอ่อนค่าลงไป 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามาชดเชยและส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอีกด้วย

สำหรับแผนงานของบริษัทในปี 58-59 จะยังคงดำเนินการผลิตและจำหน่ายโลหะสังกะสีจำนวน 7.5 หมื่นตันต่อปี โดยบริษัทได้วางแผนบริหารการใช้แร่สังกะสี จากเหมืองแม่สอดให้สอดคล้องกับแผนการผลิตโลหะสังกะสีของโรงงานที่จ.ตากไว้แล้วเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศหลัก

นายแวนเบลเลน กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีจากยุโรปในธุรกิจรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม อย่างเช่น แบตเตอรี่ สารเร่งปฏิกริยา น้ำยาเครื่องทำความเย็น ขยะอิเล็คทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 1 พันล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 51% และพันธมิตรถือหุ้น 49% คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และจะนำเสนอแผนให้กับคณะกรรมการบริษัทภายในปลายปีนี้ คาดว่าจะใช้งบลงทุนในการศึกษาโครงการราว 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจรีไซเคิล อยู่ 3-4 ดีลในประเทศกลุ่ม AEC อย่างเช่น ในฟิลลิปินส์ กัมพูชา และเมียนมาร์ แต่ยังสามารถระบุระยะเวลาได้ เนื่องจากการเจรจามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ด้านธุรกิจพลังงานทดแทนปัจจุบันยังให้ความสนใจที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่นครราชสีมา ขนาด 54 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.ตาก 48 เมกะวัตต์ หลังจากที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 8 เมกะวัตต์ ที่จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะเริ่มมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ