ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และเป็นเงินทุนในการขยายกิจการ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และผลการดำเนินงานที่ผ่านการพิสูจน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอและการมีหลักทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง ตลอดจนความกังวลในการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมถึงสถานะทางการเงินที่ยอมรับได้ และความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 28,000-35,000 ล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานหรืออัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน โดยในอนาคตอันใกล้นี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตแต่อย่างใด
บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทย บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ เดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 11,581 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งอยู่ใน 3 อันดับแรกในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2526 โดยตระกูลอัศวโภคิน ณ เดือนพฤษภาคม 2558 ตระกูลอัศวโภคินมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 31% รองลงมาคือ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ในสัดส่วน 16% สินค้าหลักของบริษัทคือบ้านเดี่ยวซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของรายได้รวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมากซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย บริษัทประสบความสำเร็จในการขายบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์และราคาที่หลากหลาย และเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเล ทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2555-2557 ยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 เป็น 11,213 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว
ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 21,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะรับรู้ยอดขายดังกล่าวเป็นรายได้ 4,500 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2558 และส่วนที่เหลือจะรับรู้เป็นรายได้ในช่วงปี 2559-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 28,000-35,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นเป็น 24%-25% ในช่วงปี 2556-2557 จาก 22% ในปี 2555 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเป็น 21% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ทั้งนี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณารวมถึงแรงกดดันจากต้นทุนการพัฒนาโครงการ ตลอดจนการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขยายธุรกิจแล้ว
บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ที่ 44% และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ 45% ดีขึ้นจาก 50% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.5 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.8 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ระดับประมาณ 1 เท่า บริษัทมีภาระหนี้ในระดับปานกลาง ทว่าความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีเงินลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีซึ่งสามารถสร้างรายได้และการถือเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง โดยมูลค่าตลาดของเงินลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เท่ากับ 43,000 ล้านบาท และรายได้จากเงินลงทุนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2555-2557
สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 14%-17% ในช่วงปี 2556 ถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 13% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่า